@ธรรมะ สวัสดีทุกท่าน@ @เชิญเขียนบทความเกี่ยวกับธรรมะได้ ครับ แล้วส่งมาที่charan_54@hotmail.co.th@ @บุญไม่ทำมัวแต่อ้วนวอน ระวังเทวดาจะย้อนว่า วอน วอน วอนเสียแล้ว@ @เดินอย่างมีความสุขที่ได้เดิน เราจะมีอนาคตอยู่ในปัจจุบัน@

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

สังคมคน


(บทความพระมหากิตติศักดิ์  กิตฺติโสภโณ)
สังคมคน
สังคม คือ การอยู่ร่วมกันของคน เป็นต้น  ในการอยู่ร่วมกันของคนนั้น ต้องอาศัยความเข้าใจกันและกัน ความเข้าใจจะเกิดขึ้นได้อย่างไร จะเกิดขึ้นได้ด้วยการศึกษา การศึกษานั้นแบ่งได้เป็น ๒ ส่วน คือ การศึกษาทางโลก และ การศึกษาทางธรรม
            การศึกษาทางโลก หมายถึง การศึกษาเพื่อความสุขในโลกนี้ ไม่จำกัดว่าจะเป็นแผนกไหน เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ นิติศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ฯลฯ การศึกษาทางโลกจำเป็นสำหรับทุกคน อย่างน้อยควรศึกษาให้พอช่วยตัวเองได้ อย่างมากก็ศึกษาเพื่อให้ช่วยผู้อื่นได้ด้วย ส่วนการศึกษาทางธรรม หมายถึง การศึกษาเพื่อความสุขทั้งในปัจจุบัน อนาคต และพ้นสุขพ้นทุกข์ แตกต่างกันไปตามหลักของแต่ละศาสนา
            คนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นพวก โดยมีลักษณะปางประการร่วม เช่น อาชีพ อายุ เพศ ศาสนา ฐานะ ที่อยู่อาศัย ฯลฯ กล่าวเฉพาะด้านศาสนา  ปัจจุบัน มีผู้อ้างอิงเชื่อมโยงศาสนา เพื่อทำการด้านต่างๆ ทั้งทางการเมือง การสงคราม ทั้งนี้อาจเพราะศาสนาแนบสนิทกับผู้คนมากกว่าอย่างอื่น ไม่ยกเว้นแม้พระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนามีธรรมะมากมายสำหรับความสงบสุขของสังคม ในที่นี้ ขอกล่าวถึงธรรมะจากสิงคาลกสูตร(พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่มที่ ๑๑  ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ข้อ ๒๔๒ – ๒๗๔) ธรรมะในพระสูตรนี้บอกหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อกันของคนในสังคม ซึ่งจะเป็นเครื่องป้องกันภัย และสร้างความปลอดภัยแก่สังคม
ธรรมะในสิงคาลกสูตรแบ่งได้เป็นส่วนๆ ได้แก่  ส่วนที่ ๑ เว้นกรรมกิเลส ๔ อย่าง คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นชู้ พูดไม่ดี, ส่วนที่ ๒ เว้นความลำเอียง ๔ อย่าง คือ  ลำเอียงเพราะรักใคร่ เพราะเกียจชัง เพราะโง่เขลา เพราะขลาดกลัว, ส่วนที่ ๓ เว้นอบายมุข ๖ อย่าง คือ ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูรายการบันเทิง เล่นการพนัน คบเพื่อนเลว เกียจคร้าน, ส่วนที่ ๔ รับผิดชอบหน้าที่ ๖ คู่ ๑๒ บุคคล คือ ลูกกับพ่อแม่ ศิษย์กับครู สามีกับภรรยา เพื่อนกับเพื่อน ผู้ใต้บังคับ/ลูกจ้างกับผู้บังคับ/นายจ้าง ฆราวาสกับบรรพชิต
ส่วนที่ ๑ เว้นกรรมกิเลส ๔
ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นชู้ พูดไม่ดี
            เว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นข้อหนึ่งในศีลห้าด้วย คำว่าสัตว์นั้นมีความหมายกว้างมาก หมายเอาทั้งมนุษย์และเดรัจฉาน ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็เป็นการยากที่ปฏิบัติให้บริสุทธิ์ได้ หากมองดูสิกขาบทของพระภิกษุ ถ้าฆ่ามนุษย์เป็นปาราชิก  ฆ่าสัตว์อื่นเป็นปาจิตตีย์ เป็นต้น หากผู้ปฏิบัติจะกำหนดในใจว่า จะไม่ฆ่าสัตว์ประเภทนี้ แต่ยกเว้นสัตว์ประเภทนี้ เช่น ยุง มด จะทำให้ไม่ร้อนใจ  ง่ายต่อการปฏิบัติมากขึ้น
            ส่วนเว้นการลักทรัพย์ เป็นชู้ พูดไม่ดี เป็นเรื่องที่ทราบกันดีแล้ว

ส่วนที่ ๒ เว้นความลำเอียง ๔
ลำเอียงเพราะรักใคร่ เกียจชัง โง่เขลา ขลาดกลัว
ความลำเอียง เรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า อคติ เมื่อมีความลำเอียง จะเกิดความไม่สม่ำเสมอ จากนั้น จะเกิดความไม่ยุติธรรม เสียสมดุล ขาดมาตรฐาน  เป็นเหตุเกิดเป็นทางมาแห่งวุ่นวายของสังคม จึงเป็นเรื่องที่ควรเว้น
ส่วนที่ ๓ เว้นอบายมุข ๖
ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูรายการบันเทิง(เกินพอดี)
เล่นการพนัน คบเพื่อนเลว เกียจคร้าน
            เรื่องเหล่านี้ เป็นบ่อเกิดความรุนแรง และปัญหาสังคม ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และจะยังเป็นต่อไปในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่ควรเว้น

ส่วนที่ ๔ รับผิดชอบหน้าที่ ๖ คู่ ๑๒ บุคคล
คู่ที่ ๑ ลูกกับพ่อแม่(ทิศตะวันออก)
ลูกพึงปฏิบัติต่อพ่อแม่โดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. ท่านเลี้ยงเรามา เราเลี้ยงท่านตอบ  ๒. ทำกิจของท่าน ๓. ดำรงวงศ์ตระกูล  ๔. ประพฤติตนให้เหมาะสมที่จะเป็นทายาท ๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
พ่อแม่พึงปฏิบัติต่อบุตรด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว  ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี ๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา ๔. หาภรรยา(สามี)ที่สมควรให้ ๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาอันสมควร

คู่ที่ ๒ ศิษย์กับครู(ทิศใต้)
ศิษย์พึงปฏิบัติต่อครูโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. ลุกขึ้นยืนรับ ๒. เข้าไปคอยรับใช้ ๓. เชื่อฟัง ๔. ดูแลปรนนิบัติ ๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ
ครูพึงปฏิบัติต่อศิษย์ด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. แนะนำให้เป็นคนดี ๒. ให้เรียนดี ๓. บอกความรู้ในศิลปวิทยาทุกอย่างด้วยดี ๔. ยกย่องให้ปรากฏในหมู่เพื่อน ๕. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย

คู่ที่ ๓ สามีกับภรรยา(ทิศตะวันตก)
สามีพึงปฏิบัติต่อภรรยาโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. ให้เกียรติยกย่อง ๒. ไม่ดูหมิ่น ๓. ไม่ประพฤตินอกใจ ๔. มอบความเป็นใหญ่ให้ ๕. ให้เครื่องแต่งตัว
ภรรยาพึงปฏิบัติต่อสามีด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. จัดการงานดี ๒. สงเคราะห์คนข้างเคียงดี ๓. ไม่ประพฤตินอกใจ ๔. รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ ๕. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจทั้งปวง

คู่ที่ ๔ เพื่อนกับเพื่อน(ทิศเหนือ)
เพื่อนพึงปฏิบัติต่อเพื่อนโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. การให้(การแบ่งปันสิ่งของให้). กล่าววาจาเป็นที่รัก ๓. ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ ๔. วางตนสม่ำเสมอ ๕. ไม่พูดจาหลอกลวงกัน
เพื่อนพึงปฏิบัติต่อเพื่อนด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๒. ป้องกันทรัพย์ของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๓. เมื่อมีภัยก็เป็นที่พึ่งพำนักได้ ๔.    ไม่ละทิ้งในยามอันตราย ๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ตระกูลของเพื่อน

คู่ที่ ๕ ผู้บังคับกับผู้ใต้บังคับ(ทิศล่าง)
ผู้บังคับ/นายจ้างพึงปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับ/ลูกจ้างโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. จัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ๒. ให้อาหารและค่าจ้าง ๓. ดูแลรักษายามเจ็บป่วย ๔. ให้อาหารมีรสแปลก ๕. ให้หยุดงานตามโอกาส
ผู้ใต้บังคับ/ลูกจ้างพึงปฏิบัติต่อผู้บังคับ/นายจ้างด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. ตื่นขึ้นทำงานก่อน ๒. เลิกงานเข้านอนทีหลัง ๓. ถือเอาแต่ของที่เขาให้ ๔. ทำงานให้ดีขึ้น ๕. นำคุณของเขาไปสรรเสริญ

คู่ที่ ๖ ฆราวาสกับบรรพชิต(ทิศบน)
ฆราวาสพึงปฏิบัติต่อบรรพชิตโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา ๒. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา ๓.    จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา ๔. เปิดประตูต้อนรับ ๕.    ถวายปัจจัยเครื่องยังชีพ
บรรพชิตพึงปฏิบัติต่อฆราวาสด้วยหน้าที่ ๖ ประการ คือ ๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว ๒. แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี ๓. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันดีงาม ๔. ให้ได้รู้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง ๕. อธิบายสิ่งที่เคยรู้เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ๖. บอกทางสวรรค์ให้

หน้าที่ทั้งหมดนี้ครอบคลุมทุกส่วนของสังคม หากแต่ละคนปฏิบัติหน้าที่ของตนและปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างถูกต้อง สังคมก็จะสงบสุข
สิงคาลกสูตรนี้ เป็นพระสูตรที่มีความสำคัญและน่าสนใจ จึงขอฝากไว้เพื่อได้ศึกษาเรียนรู้กันโดยละเอียด พร้อมทั้งนำมาปรับใช้ตามความเหมาะสมต่อไป

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | cheap international calls