@ธรรมะ สวัสดีทุกท่าน@ @เชิญเขียนบทความเกี่ยวกับธรรมะได้ ครับ แล้วส่งมาที่charan_54@hotmail.co.th@ @บุญไม่ทำมัวแต่อ้วนวอน ระวังเทวดาจะย้อนว่า วอน วอน วอนเสียแล้ว@ @เดินอย่างมีความสุขที่ได้เดิน เราจะมีอนาคตอยู่ในปัจจุบัน@

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิชาธรรมวิภาค(ฉักกะ คือ หมวด ๖)

ฉักกะ คือ หมวด ๖

คารวะ ๖ อย่าง
คารวะ หมายถึง ความเคารพ ความนับถืออย่างหนักแน่น ความเอื้อเฟื้อด้วยกิริยาที่นอบน้อม เช่น การลุกรับ การคำนับ หรือการทำอภิวาท เป็นต้น รวมถึงการประพฤติมารยาทอย่างอื่นด้วยความตั้งใจ ไม่กระด้างการะเดื่อง
๑.พุทธคารวตา หมายถึง ความเคารพนับถือพระพุทธเจ้าด้วยการกราบไหว้บูชา ตั้งใจปฏิบัติตามคำสอน
๒.ธัมมคารวตา หมายถึง ความเคารพนับถือพระธรรมด้วยการตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ที่เรียกว่า ปริยัติสัทธรรม
๓.สังฆคารวตา หมายถึง ความเคารพนับถือพระสงฆ์ด้วยการกราบไหว้ แสดงกิริยาที่นอบน้อมต่อท่าน
๔.สิกขาคารวตา หมายถึง ความเคารพเอื้อเฟื้อในการศึกษาด้วยกาตั้งใจใฝ่ศึกษา
๕.อัปปมาทคารวตา หมายถึง ความเคารพเอื้อเฟื้อในความไม่ประมาทด้วยการไม่เป็นผู้เลินเล่อเผลอสติ
๖.ปฏิสันภารคารวตา หมายถึง ความเคารพเอื้อเฟื้อในการทำปฏิสันถารด้วยการไม่ทำตนให้เป็นคนใจแคบ ต้อนรบผู้มาเยือนด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ดีงาม
สาราณิยธรรม ๖ อย่าง
สาราณิยธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน คือผู้ประพฤติธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นเหตุให้ระลึกถึงความดีที่ทำต่อกัน เป็นที่เคารพนับถือของผู้อื่น และสมานความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่คณะไว้ได้
๑. เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยขวนขวายกิจธุระของเพื่อนกันด้วยกาย มีพยาบาลภิกษุไข้เป็นต้น ด้วยจิตเมตตา
๒. เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนกันด้วยวาจา เข่นกล่าวคำสั่งสอนเป็นต้น ด้วยจิตเมตตา
๓. เข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกัน
๔. แบ่งปันลาภที่ตนได้มาแล้วโดยชอบธรรมให้แก่เพื่อนภิกษุสามเณร ไม่หวงไว้บริโภคจำเพาะผู้เดียว
๕. รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนภิกษุสามเณรอื่นๆ ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น
๖. มีความเห็นร่วมกันกับภิกษุสามเณรอื่นๆ ไม่วิวาทกับใครๆ เพราะมีความเห็นผิดกัน
ธรรม ๖ อย่างนี้ ทำผู้ประพฤติให้เป็นที่รักที่เคารพของผู้อื่น เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กันและกัน เป็นไปเพื่อความไม่วิวาทกันและกัน เป็นไปเพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

อายตนะภายใน ๖
อายตนะ หมายถึง ขบวนการเชื่อมต่อให้เกิดความรู้ขึ้นที่เรียกว่า “อายตนะภายใน”เพราะเป็นสื่อเชื่อมต่อที่มีอยู่ในตัวคนใช้เชื่อมต่อกับอายตนะภายนอก
๑.ตา หมายถึง ประสาทที่ใช้สำหรับการดูรูป เรียกว่า จักขุประสาท
๒.หู หมายถึง ประสาทที่ใช้สำหรับฟังเสียง เรียกว่า โสตประสาท
๓.จมูก หมายถึง ประสาทที่ใช้สำหรับดมกลิ่น เรียกว่า ฆานประสาท
๔.ลิ้น หมายถึง ประสาทที่ใช้สำหรับลิ้มรส เรียกว่า ชิวหาประสาท
๕.กาย หมายถึง ประสาทที่ใช้รับรู้ถึงสิ่งที่มาถูกต้อง เรียกว่า กายประสาท
๖.ใจ หมายถึง ธาตุที่ใช้รับรู้เรื่องราวต่างๆ เรียกว่า มโนธาตุ
ทั้ง ๖ อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อินทรีย์” เพราะเป็นใหญ่ในกิจของตน เช่น ตาเป็นใหญ่ในการเห็นรูป เป็นต้นจะใช้ผิดหน้าที่ไม่ได้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่ง “ทวาร” เพราะเป็นประตูสำหรับรับอารมณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาทาง ตา หู เป็นต้น

อายตนะภายนอก ๖
อายตนะภายนอก หมายถึง สิ่งที่ถูกรับรู้หรือสัมผัสได้ด้วยอายตนะภายในทั้ง ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่
๑.รูป หมายถึง สิ่งที่สามารถเห็นได้ด้วยตา
๒.เสียง หมายถึง สิ่งที่สามารถได้ยินด้วยหู
๓.กลิ่น หมายถึง สิ่งที่สามารถสูดดมได้ด้วยจมูก
๔.รส หมายถึง สิ่งที่สามารถลิ้มรสได้ด้วยลิ้น
๕.โผฏฐัพพะ หมายถึง สิ่งที่สามารถสัมผัสได้ด้วยกาย
๖.ธรรมารมณ์ หมายถึง สิ่งที่สามารถรู้สึกได้ทางใจ
ทั้ง ๖ นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อารมณ์”เพราะเป็นธรรมชาติเหนี่ยวรั้งจิตให้ติดอยู่ในสิ่งที่ยินดี อายตนะภายในกับอายตนะภายนอก เป็นสิ่งที่เชื่อมต่อกันเป็นคู่ๆ ไป เช่น ตา+รูป หู+เสียง เป็นต้น
วิญญาณ ๖
วิญญาณ หมายถึง ความรู้แจ้ง เป็นธาตุรู้และระบบการรู้ของจิตหลังจากที่ได้สัมผัสกับอารมณ์หรือสิ่งที่มากระทบเป็นระบบการรู้ที่เกิดจากประสาทสัมผัส
รู้ทางตาเพราะรูปมากระทบ เรียกว่า จักขุวิญญาณ
รู้ทางหูเพราะเสียงกระทบ เรียกว่า โสตวิญญาณ
รู้ทางจมูกเพราะกลิ่นมากระทบ เรียกว่า ฆานวิญญาณ
รู้ทางลิ้นเพราะรสมากระทบ เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ
รู้ทางกายเพราะโผฏฐัพพะ(อารมณ์ที่ถูกต้องทางกาย) มากระทบ เรียกว่า กายวิญญาณ
รู้ทางใจ เพราะอารมณ์ที่เกิดกับใจมากระทบ เรียกว่า มโนวิญญาณ

สัมผัส ๖
สัมผัส หมายถึง การถูกต้องกัน การกระทบกันระหว่าง อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ เรียกชื่อตามสิ่งที่มากระทบอายตนะภายใน
ตา + รูป + จักขุวิญญาณ = จักขุสัมผัส
หู + เสียง + โสตวิญญาณ = โสตสัมผัส
จมูก + กลิ่น + ฆานวิญญาณ = ฆานสัมผัส
สิ้น + รส + ชิวหาวิญญาณ = ชิวหาสัมผัส
กาย + โผฏฐัพพะ + กายวิญญาณ = กายสัมผัส
ใจ + ธรรมารมณ์ +มโนวิญญาณ = มโนสัมผัส
เวทนา ๖
เวทนา หมายถึง การเสวยอารมณ์ คือ การรับรู้อารมณ์ที่มากระทบนั้น แล้วก็รู้ตามปัจจัยที่มากระทบ ถ้าปัจจัยดีก็เป็นสุข ไม่ดีก็เป็นทุกข์ ไม่ดีไม่ชั่วก็รู้สึกเฉยไม่เป็นสุขหรือทุกข์
ความรู้สึกอารมณ์อันมากระทบ ทางตา เรียกว่า จักขุสัมผัสสชาเวทนา
ความรู้สึกอารมณ์อันมากระทบ ทางหู เรียกว่า โสตสัมผัสสชาเวทนา
ความรู้สึกอารมณ์อันมากระทบ ทางจมูก เรียกว่า ฆานสัมผัสสชาเวทนา
ความรู้สึกอารมณ์อันมากระทบ ทางลิ้น เรียกว่า ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา
ความรู้สึกอารมณ์อันมากระบท ทางกาย เรียกว่า กายสัมผัสสชาเวทนา
ความรู้สึกอารมณ์อันมากระทบ ทางใจ เรียกว่า มโนสัมผัสสชาเวทนา

ธาตุ ๖
ธาตุ หมายถึง สิ่งที่ทรงสภาพเดิมของตนไว้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอีกต่อไป
๑. ปฐวีธาตุ คือ ธาตุดิน
๒. อาโปธาตุ คือ ธาตุน้ำ
๓. เตโชธาตุ คือ ธาตุไฟ
๔. วาโยธาตุ คือ ธาตุลม
๕. อากาสธาตุ คือ ช่องว่างมีในกาย
๖. วิญญาณธาตุ คือ ความรู้อะไรก็ได้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | cheap international calls