@ธรรมะ สวัสดีทุกท่าน@ @เชิญเขียนบทความเกี่ยวกับธรรมะได้ ครับ แล้วส่งมาที่charan_54@hotmail.co.th@ @บุญไม่ทำมัวแต่อ้วนวอน ระวังเทวดาจะย้อนว่า วอน วอน วอนเสียแล้ว@ @เดินอย่างมีความสุขที่ได้เดิน เราจะมีอนาคตอยู่ในปัจจุบัน@

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิชาธรรมวิภาค

ทุกะ คือ หมวด ๒

ธรรมมีอุปการะมาก ๒ อย่าง

๑.  สติ ความระลึกได้ หมายถึง การนึกขึ้นได้ก่อนที่ จะทำ จะพูด จะคิด มิให้กิจนั้นๆ ดำเนินไปสู่ทางที่ผิด หรือ นึกถึงเรื่องที่เคยทำ คำที่พูดแม้นานมาแล้วได้ เป็นการฉุกคิดขึ้นได้ของจิตไม่เผลอไผลหลงลืม สติ มีหน้าที่คอยกำจัดความประมาทเลินเล่อมีผลทำให้การทำงานทุกประเภทไม่เกิดความ เสียหาย
๒.  สัมปชัญญะ ความรู้ตัว หมายถึง ความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาในสิ่งที่กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด มีความรู้สึกตื่นพร้อมทั้งรู้ตัวว่าสิ่งที่กำลังทำ พูด คิดนั้น ดีไม่ดี ถูกต้องไม่ถูกต้องอย่างไร สัมปชัญญะ จึงมีหน้าที่กำจัดความโง่เขลาในเวลาทำการงานทุกประการ
ธรรมทั้ง ๒ ท่านกล่าวว่าเป็น พหุปการธรรม ธรรมมีอุปการะมาก เพราะเป็นเหตุให้บุคคลสามารถควบคุมการทำ พูด คิด ให้อยู่ในกรอบของศีลธรรม ช่วยให้มีการยับยั้งชั่งใจให้มีการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบในขณะที่กำลัง ทำ พูด คิด ทำให้รู้จักละวางการทำ พูด คิด ที่ไม่ถูกต้องได้ด้วยตนเอง

ธรรมเป็นโลกบาล คือ คุ้มครองโลก ๒ อย่าง

๑.  หิริ ความละอายแก่ใจ หมายถึง ความละอายใจตัวเองในการทำความเลว ผิดต่อศีลธรรม และ กฎหมายบ้านเมืองหรือความละอายใจตัวเองที่จะงดเว้นการทำความดีที่ตนสามารถทำ ได้
๒.  โอตตัปปะ ความเกรงกลัว หมายถึง ความสะดุ้งกลัวต่อความผิด ด้วยคำนึงถึงผล คือ ทุกข์โทษที่จะได้รับจากการทำความผิดนั้นๆ จากการทำทุจริตของตน
ธรรมทั้ง ๒ ท่านกล่าวว่าเป็นโลกปาลธรรม ธรรมคุ้มครองโลก เพราะให้โลกเกิดสันติสุข หิริ ช่วยทำให้คนเกลียดความชั่ว ละอายใจที่ทำ โอตตัปปะ ช่วยให้คนกลัวที่จะทำความผิด ทำให้ละเว้นการทำความผิดต่างๆ ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้คนในสังคมก็อยู่ร่วมกันได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข มีแต่ความเห็นอกเห็นใจกัน

ธรรมอันทำให้งาม ๒ อย่าง

๑.  ขันติ ความอดทน หมายถึง ความอดทนอดกลั้นไว้ได้ในเมื่อใจถูกระทบด้วยอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ก็ไม่แสดงอาการวิตกทุกข์ร้อนหรือโมโหฉุนเฉียว ไม่มีการทำหรือคำพูดตอบโต้เรื่องที่ต้องใช้ความอดทนมี ๔ ชนิด คือ ทนต่อความลำบากตรากตำ ไม่แสดงอาการย่อท้อ ลิ้นหวัง ต่ออุปสรรคของชีวิต ทนต่อทุกขเวทนา ไม่แสดงอาการทุรนทุรายจนเกินควรเมื่อเจ็บป่วย ทนต่อความเจ็บใจ ไม่แสดงอาการโกรธไม่พอใจเมื่อถูกคนอื่นทำหรือพูดกระทบกระแทกแดกดัน ทนต่ออำนาจกิเลส ไม่แสดงอาการอยากมีอยากได้จนออกหน้า แม้ได้มาก็ไม่ยินดีเกินเหตุ
๒.  โสรัจจะ ความเสงี่ยม หมายถึง การรู้จักปรับสภาพจิตใจให้เยือกเย็นเหมือนเป็นปกติในเมื่อมีเรื่องต้องอดทน แม้จะถูกผู้อื่นทำหรือพูดกระทบกระทั่งจนเกิดเจ็บใจแต่ก็ทนได้ ไม่แสดงอาการใดๆ ให้ปรากฏ เป็นเสมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น โสรัจจะ มีหน้าที่ข่มใจให้สงบนิ่ง ไม่แสดงอาการผิดปกติออกมาภายนอก
ธรรมทั้ง ๒ เรียกว่า โสภณธรรม ธรรมอันทำให้งามเครื่องประดับกายจำพวกเพชรนิลจินดา เป็นเครื่องส่งเสริมความงามภายนอก แต่ขันติ และ โสรัจจะ เป็นเครื่องประดับภายในจิตใจ ทำให้เป็นคนมีสง่าราศี น่ายกย่องนับถือ
บุคคลหาได้ยาก ๒ อย่าง

๑.  บุพพการี บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน              หมายถึง ผู้ที่มีบุณคุณ หรือเคยทำอุปการะแก่ผู้อื่น เช่น เคยเลี้ยงดู สั่งสอน ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ให้กำเนิดหรือหน้าที่ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยโดยไม่หวังผลตอบแทน แต่ทำด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตากรุณา หวังเพียงแต่ทำเพื่อสงเคราะห์ อนุเคราะห์ บุพพการีบุคคลที่สำคัญในชีวิต คือ พ่อแม่, ครูอุปัชฌาย์, พระเจ้าแผ่นดิน, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒.  กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว และตอบแทน                หมายถึง ผู้ที่ระลึกถึงบุญคุณที่ผู้อื่นเคยทำเคยช่วยเหลือเมื่อมีโอกาสได้ตอบแทนบุ ณคุณไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็เต็มใจที่จะทำตอบแทน เป็นการสนองคุณท่านตามกำลังความสามารถ ผู้ที่เป็นกตัญญูตกเวทีบุคคล คือ ลูกชาย-หญิง, ศิษย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก, พสกนิกร, พุทธศาสนิกชน
บุคคลทั้ง ๒ เรียกว่า ทุลลภบุคคล คนที่หาได้ยาก คือ บุพพการีบุคคลที่จะทำอุปการะต่อผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอนแทนหากได้ยาก เพราะโดยนิสัยคนมักคิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนหวังจะเป็นแต่ผู้รับ กตัญญูกตเวทีบุคคลก็หาได้ยาก เพราะโดยนิสัยคนไม่ค่อยนึกถึงสิ่งที่ผู้อื่นทำดีต่อตนมักลืมบุญคุณคนได้ง่าย
_________________________________________________________________________________

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | cheap international calls