@ธรรมะ สวัสดีทุกท่าน@ @เชิญเขียนบทความเกี่ยวกับธรรมะได้ ครับ แล้วส่งมาที่charan_54@hotmail.co.th@ @บุญไม่ทำมัวแต่อ้วนวอน ระวังเทวดาจะย้อนว่า วอน วอน วอนเสียแล้ว@ @เดินอย่างมีความสุขที่ได้เดิน เราจะมีอนาคตอยู่ในปัจจุบัน@

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิชาธรรมวิภาค(จตุกกะ คือ หมวด ๔)

จตุกกะ คือ หมวด ๔

วุฑฒิ คือธรรมเป็นเครื่องเจริญ ๔ อย่าง

๑.  สัปปุริสสังเสวะ หมายถึง การคบหากับสัตบุรุษ คือ การฝากตัวยอมมอบตัวเป็นศิษย์ การติดต่อไปมาหาสู่ทำความสนิทชิดเชื้อคุ้นเคย การประพฤติตามอย่างท่านหรือการสนทนาไต่ถามท่านด้วยความตั้งใจใฝ่รู้จริงๆ เรียกว่า คบสัตบุรุษ
๒.  สัทธัมมัสสวนะ หมายถึง การตั้งใจฟังคำสั่งสอนของสัตบุรุษที่คบหาด้วยความเคารพตั้งใจ คือ ตั้งใจฟัง ตั้งใจที่จะจดจำเพื่อนำไปปฏิบัติตาม ประการสำคัญต้องมีความเคารพนอบน้อมต่อท่านด้วย
๓.  โยนิโสมนสิการ หมายถึง เมื่อกำหนดจดจำได้แล้วก็นำมาไตร่ตรอง พิจารณาถึงเหตุผลว่าที่ท่านสอนเช่นนั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไร สิ่งไหนดีสิ่งไหนชั่ว สิ่งไหนตัวเราสามารถทำได้ในทันที หรือต้องรอจังหวะโอกาสที่เหมาะสมกว่านี้ และเมื่อทำตามที่ท่านสอนแล้วจะมีผลอย่างไร เป็นต้น
๔.  ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ หมายถึง เมื่อได้คบ ได้ฟัง คำสอน และได้พิจารณาไตร่ตรองคำสอนนั้นถี่ถ้วนจนแน่ใจว่า ตนสามารถปฏิบัติตามนั้นได้ ก็ตั้งใจปฏิบัติให้เต็มที่ตามคำสอนของท่าน ไม่ละทิ้งเสียเมื่อต้องเจอกับอุปสรรค เป็นต้น

จักร ๔

๑.  ปฏิรูปเทสวาสะ หมายถึง การอยู่ในประเทศอันสมควร อยู่ในถิ่นที่มีคนดี เหมาะแก่การศึกษาหาความรู้ สะดวกแก่การประกอบอาชีพ เหมาะกับความเป็นอยู่ของตน มีสิ่งแวดล้อมดีมีความอุดมสมบูรณ์
๒.  สัปปุริสูปัสสยะ หมายถึง การคบหาคนดี ทำความคุ้ยเคย เข้าไปหาฟังคำแนะนำ และสอบถามสิ่งที่ตนยังไม่รู้หรือเข้าใจไม่แจ่มแจ้งจากท่านผู้เป็นสัตบุรุษ
๓.  อัตตสัมมาปณิธิ หมายถึง การตั้งตนทั้งส่วนกายและใจไว้ในทางที่ชอบ ส่วนกายด้วยการทำตัวให้เหมาะสมกับวุฒิภาวะและหน้าที่ รวมถึงการรู้จักวางตัวและประมาณตัว ส่วนใจด้วยการตั้งจิตไว้ในศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา รู้จักตั้งเป้าหมายชีวิต และปฏิบัติตามเป้าหมายนั้นโดยหนทางสุจริต
๔.  ปุพเพกตปุญญตา หมายถึง บุญหรือความดีที่ได้เคยทำไว้ในอดีต ที่เป็นชาติก่อนๆบ้าง หรือในครั้งที่ผ่านมาในชีวิตนี้บ้าง บุญหรือความดีที่เคยทำไว้ในชาติก่อนหรือที่แล้วมาในชาตินี้จะส่งผลให้เกิด เป็นความสุข ความเจริญในปัจจุบัน หรือในอนาคตแก่ผู้ทำบุญไว้

ธรรม ๔ อย่างนี้ เรียกว่า จักรธรรม เพราะเป็นธรรมที่นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ความมั่นมีศรีสุข และนำให้ถึงจุดหมายดุจล้อที่นำพาหนะ เช่น รถหรือเกวียนไปถึงจุดหมาย

อคติ ๔

๑.  ฉันทาคติ หมายถึง ความลำเอียงเข้าข้างโดยถือเอาความรักใคร่พอใจของตนเป็นที่ตั้ง จะทำให้เสียความยุติธรรม เพราะเห็นแก่หน้าคนที่ตนรัก เช่น ยกย่องแต่คนสนิท คนใกล้ชิด แม้ไม่สมควรได้รับการยกย่อง เป็นต้น
๒.  โทสาคติ หมายถึง ความลำเอียงเข้าข้างโดยถือเอาความไม่ชอบใจไม่พอใจของตนเป็นที่ตั้ง จะทำให้เสียความยุติธรรมเพราะลุแก่อำนาจความเกลียดชัง ทำให้มีการกลั่นแกล้งและทำลายกันเกิดขึ้น เช่น กีดกันคนที่ตนไม่ชอบไว้ไม่ให้ก้าวหน้าตามที่ควรจะได้ เป็นต้น
๓.  โมหาคติ หมายถึง ความลำเอียงเข้าข้างเพราะความหลง จะทำให้เสียความยุติธรรมเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นคนเชื่อง่าย หูเบา ไม่มีความรอบคอบ เช่น ด่วนตัดสินลงโทษผู้น้อยก่อนพิจารณาให้ถี่ถ้วน เป็นต้น
๔.  ภยาคติ หมายถึง ความลำเอียงเข้าข้างเพราะกลัวหรือเกรงใจ จะทำให้เสียความยุติธรรมเพราะความโลเลไม่มั่นคงไม่เป็นตัวของตัวเอง ตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้อื่น เช่น ไม่กล้าลงโทษผู้ทำผิด เพราะเป็นลูกหลานของผู้มีอำนาจมีอิทธิพล เป็นต้น
อคติ ๔ ประการนี้ เมื่อกระทำเข้าแม้ข้อใดข้อหนึ่ง ก็เป็นเหตุให้เสียความยุติธรรม เสียความเป็นผู้ใหญ่ทั้งสิ้น

อันตรายของภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ ๔ อย่าง

๑.  ภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ ต้องเป็นผู้มีความอดทนต่อการเล่าเรียนและการปฏิบัติ ไม่เกียจคร้าน ไม่เบื่อหน่ายต่อคำสั่งสอนของอุปัชฌาย์อาจารย์ ถ้าอดทนไม่ได้ก็ต้องประสบอันตรายอันเป็นเครื่องทำลายความเจริญของตน
๒.  ภิกษุสามเณร เลี้ยงชีวิตด้วยอาหารบิณฑบาตที่ญาติโยมถวาย บางครั้งได้อาหารที่ถูกปากบ้าง ไม่ถูกปากบ้างได้มากเป็นบางคราบางเวลาก็ขาดแคลน ถึงอย่างนั้นก็ต้องอดทน ด้วยการพิจารณาว่า ฉันอาหารเพียงเพื่อให้ชีวิตเป็นอยู่เพื่อปฏิบัติธรรมเท่านั้น ไม่ได้ฉันเพราะเห็นแก่ปากท้อง ถ้าอดทนต่อความอดอยากไม่ได้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้า
๓.  ภิกษุสามเณร ถ้ายังมัวเพลิดเพลินระเริงหลงอยู่ในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นอันตรายต่อการเล่าเรียนและปฏิบัติ ย่อมห่างจากความเจริญในเพศบรรพชิต ผู้หวังความเจริญจึงควรพิจารณาให้เห็นโทษของกามคุณ จึงจะประสบผลสำเร็จของการบวช ถ้าอดทนต่อความยั่วยวนไม่ได้ ใจย่อมกระสับกระส่ายไม่เป็นอันประกอบคุณความดี
๔.  ภิกษุสามเณร เมื่อยังมีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ กับผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ทำให้การทำธุระในพระศาสนาทั้ง ๒ ส่วน คือ การศึกษาปริยัติธรรม และการปฏิบัติย่อมเสื่อมเสียหมดเพราะธรรมชาติของหญิง เป็นข้าศึกเป็นมลทินแก่พรหมจรรย์โดยตรง ดังนั้น จำต้องตัดความอาลัยรักใคร่ อันประกอบด้วยราคะในหญิงให้สิ้นเชิง ถ้าอดทนไม่ได้อาจทำให้เป็นผู้พ่ายแพ้ในพระศาสนา
ภิกษุสามเณรผู้หวังความเจริญแก่ตน ควรระวังอย่าให้อันตราย ๔ อย่างนี้ย่ำยีได้

ปธาน คือความเพียร ๔ อย่าง 

๑.  สังวรปธาน หมายถึง ความเพียรที่ตั้งไว้เพื่อสำรวมระวังไม่ให้ความชั่วที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิด มีในตน เพียรระวังป้องกันตัวป้องกันใจไม่ให้หลงไหลคิดไปในทางที่ชั่ว จนถลำตัวลงไปเกลือกกลั้วกับความชั่วความผิดนั้น การเพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นได้ดีที่สุดคือ การสำรวมระวังอินทรีย์ ๖
๒.  ปหานปธาน หมายถึง ความเพียรที่ตั้งไว้เพื่อละบาปอกุศลที่เกิดมีขึ้นแล้ว ไม่ให้ฝังแน่นอยู่ในจิตใจ ละการทำสิ่งที่ไม่ดี พยายามกำจัดการทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่วให้หมดไปจากกมลสันดาน รวมถึงความเพียรพยายามที่จะละอกุศลวิตก ๓ คือ นึกคิดถึงแต่เรื่องกามคุณ การพยาบาท และการเบียดเบียน
๓.  ภาวนาปธาน หมายถึง ความเพียรที่ตั้งไว้เพื่อทำให้บุญกุศล สิ่งที่เป็นความดีความชอบ ที่ยังไม่มี ไม่เป็น ให้เกิดขึ้นให้มีขึ้นในตน หรือเพียรเพิ่มพูนบุญกุศลความดีที่มีอยู่แล้ว ให้มียิ่งๆขึ้นไป
๔.  อนุรักขนาปธาน  หมายถึง ความเพียรที่ตั้งไว้เพื่อตามรักษาบุญกุศลหรือความดีงามที่มีอยู่แล้วในตนไม่ ให้เสื่อมไปเพียรประคับประคองความดีงามนั้น ให้ตั้งมั่นในจิตใจตลอดไป
ความเพียร ๔ อย่างนี้ เป็นความเพียรชอบควรประกอบให้มีในตน

อธิษฐานธรรม คือธรรมที่ความตั้งไว้ในใจ ๔ อย่าง

๑.  ปัญญา หมายถึง รอบรู้สิ่งที่ควรรู้
๒.  สัจจะ หมายถึง ความจริงใจ คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง
๓.  จาคะ หมายถึง สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ
๔.  อุปสมะ หมายถึง สงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ

อิทธิบาท คือคุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ ๔ อย่าง

๑.  ฉันทะ หมายถึง พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
๒.  วิริยะ หมายถึง เพียรประกอบสิ่งนั้น
๓.  จิตตะ หมายถึง เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ไม่วางธุระ
๔.  วิมังสา หมายถึง หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น
คุณ ๔ อย่างนี้ มีบริบูรณ์แล้ว อาจชักนำบุคคลให้ถึงสิ่งที่ต้องประสงค์ซึ่งไม่เหลือวิสัย

ควรทำความไม่ประมาทในที่ ๔ สถาน

๑.  ในการละกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต
๒.  ในการละวจีทุจริต ประพฤติวจีสุจริต
๓.  ในการละมโนทุจริต ประพฤติมโนสุจริต
๔.  ในการละความเห็นผิด ทำความเห็นให้ถูก

อีกอย่างหนึ่ง

๑.  ระวังใจไม่ให้กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๒.  ระวังใจไม่ให้ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง
๓.  ระวังใจไม่ให้หลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง
๔.  ระวังใจไม่ให้มัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา

ปาริสุทธิศึล ๔

๑.  ปาติโมกขสังวร หมายถึง สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำข้อที่พระองค์อนุญาต
๒.  อินทรียสังวร  หมายถึง สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ปาก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ
๓.  อาชีวปาริสุทธิ หมายถึง เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ ไม่หลองลวงเขาเลี้ยงชีวิต
๔.  ปัจจยปัจจเวกขณะ หมายถึง พิจารณาเสียก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช ไม่บริโภคด้วยตัณหา

อารักขกัมมัฏฐาน

๑.  พุทธานุสติ หมายถึง การระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ที่มีในพระองค์และทรงเกื้อกูลแก้ผู้อื่น
๒.  เมตตา หมายถึง การแผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า
๓.  อสุภะ หมายถึง การพิจารณาร่างกายตนและผู้อื่นให้เห็นเป็นไม่งาม
๔.  มรณัสสติ หมายถึง นึกถึงความตายอันจะมีแก่ตน ว่าเรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่พ้นความตายไปได้
กัมมัฏฐาน ๔ อย่างนี้ ควรเจริญเป็นนิตย์
 
พรหมวิหาร ๔

๑.  เมตตา หมายถึง ความรักที่ไม่เจือด้วยความรักใคร่ทางกาม แต่เป็นความรู้สึกที่ปรารถนาดีหวังดีต่อผู้อื่น ปราศจากความรู้สึกเห็นแก่ตัว ความลำเอียง ความเกลียดชัง เป็นความรัก ที่มุ่งไมตรีจิต มุ่งความสุขความเจริญต่อผู้อื่น เมตตานี้ มีลักษณะคิดนำความสุขไปให้เขาโดยส่วนเดียว เป็นการแผ่ไปโดยเจาะจงตัวบุคคลผู้รับ เรียกว่า “โอทิสสผรณา” มีคุณสมบัติขจัดความคิดปองร้ายผู้อื่นได้ ควรเจริญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
๒.  กรุณา หมายถึง ความรู้สึกสงสารมีความหวั่นใจจนทนไม่ได้ที่จะวางเฉย ในเมื่อประสบพบผู้อื่นได้รับความลำบากเป็นความรู้สึกเห็นใจ พลอยวิตกกังวลไปด้วย เป็นเหตุให้คิดหาหนทางช่วยเหลือ เพื่อให้เขาพ้นจากความลำบากทุกข์ยากนั้นกรุณานี้ มีลักษณะคิดขจัดทุกข์บำรุงสุขให้เขาส่วนเดียว มีคุณสมบัติขจัดความคิดเบียดเบียนผู้อื่นได้ ควรเจริญเมื่อเขาประสบความลำบาก
๓.  มุทิตา หมายถึง ความรู้สึกชื่นชมยินดี พลอยดีใจไปกับเขาด้วย เมื่อผู้อื่นได้ดี ได้รับผลสำเร็จ ไม่อิจฉาตาร้อนในสิ่งที่เขาได้รับ แต่เป็นความรู้สึกที่มีน้ำใจตอบ มุทิตานี้ มีลักษณะพลอยอนุโมทนาต่อเขาส่วนเดียว มีคุณสมบัติขจัดความไม่ยินดีต่อผู้อื่นได้ ควรเจริญเวลาเมื่อเขาประสบความสำเร็จ
๔.  อุเบกขา หมายถึง ความรู้สึกวางเฉย วางตัววางใจเป็นกลางไม่เอนเอียงเข้าข้าง เป็นความรู้สึกปราศจากความคิดสมน้ำหน้าหรือคิดซ้ำเติม เมื่อเห็นคนที่ตนเกลียดชังประสบความวิบัติ หรือเมื่อเห็นคนที่ตนรักใคร่ชอบพอประสบภัยความวิบัติโดยที่ไม่อาจช่วยเหลือ ได้ อุเบกขานี้ มีลักษณะวางเฉยทำใจให้เป็นกลางในทุกคนทุกเหล่าสัตว์ มีคุณสมบัติขจัดความกระบทกระทั่งใจต่อผู้อื่นได้ ควรเจริญเวลาเมื่อเขาประสบความทุกข์เดือนร้อน
๔ อย่างนี้ เป็นเครื่องอยู่ของท่านผู้ใหญ่

สติปัฏฐาน ๔

สติปัฎฐาน หมายถึง ธรรมอันเป็นที่ตั้งของสติ เป็นวิธีบำเพ็ญกัมมัฎฐานที่อาศัยสติ พิจารณาที่ตั้งแห่งอารมณ์ ๔ อย่าง คือ กาย เวทนา จิต ธรรม
๑.  กายานุปัสสนา   หมายถึง สติที่ตามกำหนดพิจารณากายเป็นอารมณ์ “กาย” ในที่นี้ได้แก่ สรีกายทั้งที่มีชีวิตและตายแล้ว ลมหายใจเข้าออก อิริยาบถ อวัยวะ และธาตุ ๔ มีสติกำหนดพิจารณาอยู่ที่กายอย่างใดอย่างหนึ่งจนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ พิจารณาดูต่อไปจนเกิดปัญญาเห็นกายทั้งภายในภายนอก ทั้งกำลังเกิดและกำลังดับ ทั้งที่ส่วนที่ชอบและไม่ชอบ จนคลายความยึดมั่นถือมั่นในกายได้ มีสติเห็นชัดในกายว่า กายนี้ก็สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
๒.  เวทนานุปัสสนา หมายถึง สติที่ตามกำหนดพิจารณาเวทนาเป็นอารมณ์ “เวทนา” ในที่นี้ได้แก่ ความสุข ความทุกข์ หรือความไม่สุขไม่ทุกข์ ที่เกิดจากการถูกต้องกันของอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก มีสติกำหนดพิจารณาอยู่ที่เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง จนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ พิจารณาดูต่อไปจนเกิดปัญญาเห็นเวทนาทั้งภายในภายนอก ทั้งที่กำลังเกิดและกำลังดับ ทั้งส่วนที่ชอบและไม่ขอบจนคลายความยึดมั่นถือมั่นในเวทนาได้ มีสติเห็นชัดในเวทนาว่า เวทนานี้ก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
๓.  จิตตานุปัสสนา  หมายถึง สติที่ตามกำหนดพิจารณาจิตเป็นอารมณ์ “จิต” ในที่นี้ได้แก่ ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ที่เกิดขึ้น มีสิตพิจารณากำหนดจิตให้รู้อารมณ์ หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในเวลานั้นว่าเป็นอย่างไร จนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ พิจารณาดูต่อไปจนเกิดปัญญาเห็นจิตทั้งภายในภายนอก ทั้งที่กำลังเกิดและกำลังดับ ทั้งส่วนที่ชอบและไม่ชอบ จนคลายความยึดมั่นถือมั่นในจิตได้ มีสติเห็นชัดในจิตว่า จิตนี้ก็สักว่าจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
๔.  ธัมมานุปัสสนา หมายถึง สติที่ตามกำหนดพิจารณาธรรมเป็นอารมณ์ “ธรรม” ในที่นี้ได้แก่ ธรรมที่สามารถกำหนดรู้ด้วยจิตได้ ทั้งธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล เช่น อริยสัจ ๔ ขันธ์ ๕ นิวรณ์ ๕ อายตนะ ๑๒ เป็นต้น มีสติพิจารณากำหนดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งจนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ พิจารณาดูต่อไปจนเกิดปัญญาเห็นธรรมทั้งภายในภายนอก ทั้งที่กำลังเกิดและกำลังดับ ทั้งส่วนที่ชอบและไม่ชอบ จนคลายความยึดมั่นถือมั่นในธรรมได้ มีสติเห็นชัดในธรรมว่า ธรรมนี้ก็สักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
ผู้จะเจริญสติปัฎฐานให้ได้ผล ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๓ อย่าง คือ
๑.อาตาปี มีความเพียรเครืองเผาผลาญกิเลส
๒.สัมปชาโน กำหนดรู้อยู่เสมอ
๓.สติมา มีสติระลึกรู้ทุกขณะจิต

ธาตุกัมมัฏฐาน ๔

ธาตุ ๔ คือ
ธาตุดิน เรียก ปฐวีธาตุ
ธาตุน้ำ เรียก อาโปธาตุ
ธาตุไฟ เรียก เตโชธาตุ
ธาตุลม เรียก วาโยธาตุ
ธาตุอันใดมีลักษณะแข้นแข็ง ธาตุนั้นเป็นปฐวีธาตุ ปฐวีธาตุนั้นที่เป็นภายใน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า
ธาตุอันมีลักษณะเอิบอาบ ธาตุนั้นเป็นอาโปธาตุ อาโปธาตุนั้น ที่เป็นภายใน คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร
ธาตุอันมีลักษณะร้อน ธาตุนั้นเป็นเตโชธาตุ เตโชธาตุนั้น ที่เป็นภายใน คือ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่เผาอาหารให้ย่อย
ธาตุอันใดมีลักษณะพัดไปมา ธาตุนั้นเป็นวาโยธาตุ วาโยธาตุนั้น ที่เป็นภายใน คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปตามตัว ลมหายใจ
ความกำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันอยู่ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เรียกว่า ธาตุกัมมัฏฐาน

อริยสัจ ๔

อริยสัจ หมายถึง ความจริงอย่างประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ ความจริงที่ไปจากข้าศึก คือ กิเลส ความจริงที่ทำปุถุชนเป็นอริยะ
๑.  ทุกข์ หมายถึง ความไม่สบายกายไม่สบายใจ แบ่งออกเป็นได้ ๒ ประเภท คือ สภาวทุกข์ ทุกประจำ ทุกข์ที่มีอยู่ด้วยกันทุกคนไม่มีข้อยกเว้น ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ปกิณณกทุกข์ ทุกข์จร ทุกข์ที่จรมาเป็นครั้งคราว ได้แก่ความเศร้าโศก ความพร่ำเพ้อรำพัน ความเจ็บป่วย ความน้อยใจ ความคับแค้นใจ ความประสบสิ่งที่ไม่ขอบใจ ความพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบใจ ความผิดหวังไม่ได้ตามที่ต้องการ
๒.  สมุทัย หมายถึง เหตุเกิดแห่งทุกข์ สิ่งที่ทำให้ทุกข์เกิดคือตัณหา มี ๓ ประเภท คือ กามตัณหา ความอยากได้ อารมณ์หรือสิ่งที่น่าใคร่น่าชอบใจ ภวตัณหา ความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น ความอยากจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ วิภาวตัณหา ความอยากให้อารมณ์หรือสิ่งที่ไม่น่าใคร่ไม่น่าชอบใจวิบัติสูญหาย
๓.  นิโรธ หมายถึง ความดับทุกข์ ทุกข์จะดับได้ก็ต้องดับความดิ้นรนเพื่อจะได้ เพื่อจะมี เพื่อจะเป็นของใจเสียก่อน เมื่อใจไม่มีความดิ้นรนอยากได้ที่เรียกว่า ตัณหา ทุกข์ก็ดับไปหมด นิโรธ ก็คือพระนิพพาน แต่นิโรธเป็นผลของการดับตัณหาไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่ใช้ในการดับ
๔.  มรรค หมายถึง ข้อปฏิบัติอันเป็นทางให้ถึงความดับทุกข์ เป็นวิธีปฏิบัติที่ประเสริฐที่ทำให้ผู้ดำเนินตามเป็นพระอริยบุคคลได้ มี ๘ ประการ คือ ความเห็นที่ถูกต้อง๑ ความดำริที่ถูกต้อง๑ วาจาที่ถูกต้อง๑ การงานที่ถูกต้อง ๑ การเลี้ยงชีวิตที่ถูกต้อง๑ ความพยายามที่ถูกต้อง๑ สติที่ถูกต้อง๑ สมาธิที่ถูกต้อง๑

_________________________________________________________________________________

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | cheap international calls