@ธรรมะ สวัสดีทุกท่าน@ @เชิญเขียนบทความเกี่ยวกับธรรมะได้ ครับ แล้วส่งมาที่charan_54@hotmail.co.th@ @บุญไม่ทำมัวแต่อ้วนวอน ระวังเทวดาจะย้อนว่า วอน วอน วอนเสียแล้ว@ @เดินอย่างมีความสุขที่ได้เดิน เราจะมีอนาคตอยู่ในปัจจุบัน@

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิชาธรรมวิภาค(สัตตกะ คือ หมวด ๗)

สัตตกะ คือ หมวด ๗

อปริหานิยธรรม ๗ อย่าง
อปริหานิยธรรม หมายถึง ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว บุคคลหรือสังคมที่มีธรรมเหล่านี้เกื้อหนุนย่อมไม่พบกับความเสื่อม สามารถป้องกันภัยต่างๆได้
๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
๒. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิก และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ
๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติขึ้น ไม่ถอนสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบทตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้
๔. เคารพผู้เป็นใหญ่เป็นประธาน คือ ผู้ที่มีความเคารพยำเกรงต่อผู้ใหญ่
๕. ไม่ลุอำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น คือ ตัณหาความดิ้นรนอยากได้จนเกินขอบเขต
๖. ยินดีในเสนาสนะป่า การคลุกคลีกับหมู่คณะจนไม่รู้จักแบ่งเวลา ชื่อว่าเป็นผู้ผลาญประโยชน์ส่วนตน ส่วนผู้ชอบอยู่ในสถานที่สงบเงียบเป็นเหตุให้ได้ความสงบกาย สงบใจ
๗. ตั้งใจอยู่ว่า เพื่อนภิกษุสามเณรซึ่งเป็นผู้มีศีล ซึ่งยังไม่มาสู่อาวาส ขอให้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข
ธรรม ๗ อย่างนี้ ตั้งอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นไม่มีความเสื่อมเลย มีแต่ความเจริญฝ่ายเดียว

อริยทรัพย์ ๗
อริยทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์อันประเสริฐ หรือทรัพย์ของพระอริยะ เป็นคุณธรรมที่ทำนุบำรุงจิตใจไม่ให้เคว้งคว้างเปล่าเปลี่ยว ดีกว่าทรัพย์สินเงินทองที่เป็นทรัพย์ภายนอก
๑. สัทธา หมายถึง เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ
๒. สีล หมายถึง การรักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อย
๓. หิริ หมายถึง ความละอายต่อบาปทุจริต
๔. โอตตัปปะ หมายถึง ความสะดุ้งกลัวต่อบาป
๕. พาหุสัจจะ หมายถึง ความเป็นคนเคยได้ยินได้ฟังมาก คือ จำทรงธรรมและรู้ศิลปวิทยามาก
๖. จาคะ หมายถึง การสละให้ปันสิ่งของของตนให้แก่คนที่ควรให้ปัน
๗. ปัญญา หมายถึง รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์
อริยทรัพย์ ๗ จัดลงในสิกขา ๓ ได้ ๒ สิกขา คือ สีล หิริ โอตตัปปะ และ จาคะ จัดเป็น สีลสิกขา, สัทธา พาหุสัจจะ และปัญญา จัดเป็นปัญญาสิกขา

สัปปุริสธรรม ๗ อย่าง
สัปปุริสธรรม หมายถึง ธรรมของสัตบุรุษ ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ ผู้ดำรงตนอยู่ในคุณธรรมเหล่านี้ เป็นผู้มีคุณสมบัติของคนดี คนสงบที่เรียกกันว่า สัตบุรุษ
๑. ธัมมัญญุตา หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เหตุที่ควรรู้จะมีอยู่มากมายแต่เมื่อกล่าวโดยสรุปก็มีเพียง ๒ เหตุ คือ เหตุแห่งสุข เหตุแห่งทุกข์ ความสุขและความทุกข์ให้ผลต่างกันมาก จึงเป็นเหตุที่ควรรู้ไว้ว่า บุคคลทำสิ่งใดลงไป สิ่งนั้นเป็นได้ทั้งเหตุแห่งสุข หรือเหตุแห่งทุกข์
๒. อัตถัญญุตา หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักผล คือรู้ว่าผลที่ตนได้รับไม่ว่าจะดีหรือชั่ว เป็นสุขหรือทุกข์ เกิดขึ้นจากเหตุอะไร ถ้าได้รับผลที่ดีเป็นความสุข ก็ทำเหตุที่ทำให้ได้ดีมีสุขนั้นให้ดียิ่งขึ้น ถ้าเป็นผลข้างร้ายก็จะได้ตัดต้นเหตุเลิกทำในสิ่งที่เป็นเหตุแห่งผลร้ายนั้นเสีย
๓. อัตตัญญุตา หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักตน คือ รู้จักการวางตัวให้เหมาะสมกับวุฒิภาวะ ฐานะของตนได้อย่างถูกต้องไม่อวดดื้อถือดีจนดูเป็นหยิ่งยโส ไม่ดูถูกตัวเองจนทำให้ขาดความมั่นใจ แต่รู้จักประมาณตัวเองไม่คิดเห่อเหิมทะเยอะทะยานเกินฐานะทำอะไรก็ไม่ทำเกินกำลังของตนอันเป็นเหตุให้เกิดความผิดหวัง
๔. มัตตัญญุตา หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือรู้จักความพอเหมาะพอดีไม่มากหรือน้อยเกินไปในทุกเรื่อง เช่น ในการแสดง การรับ และการใช้จ่าย ผู้รู้ประมาณกำลังของตัวจึงทำอะไรที่พอดี ๆ ไม่หักโหมจนเกินกำลังทั้งกายและทรัพย์รู้คุณค่าของสิ่งที่หามาได้ ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย แต่เป็นอยู่อย่างสุขสบายตามสมควรแก่ฐานะของตนโดยไม่เดือนร้อนอัตคัดขัดสน
๕. กาลัญญุตา หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักกาล คือรู้ถึงคุณค่าของเวลาที่ผ่านไป รู้จักใช้เวลาอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์ ผู้รู้จักกาลจึงเป็นคนตรงต่อเวลาไม่อืดอาดล่าช้าในเวลาทำงาน เมื่อได้ตกปากรับคำก็ทำตามนั้นเสร็จทันตามกำหนด เป็นเหตุให้การวางไม่คั่งค้างเป็นดินพอกหางหมู
๖. ปริสัญญุตา หมายถึง ความเป็นผู้รู้ชุมชน คือรู้จักสังคมที่ตนอยู่อาศัย ที่ทำงาน และสังคมที่ตนจะต้องเข้าไปติดต่อสัมพันธ์ว่าเป็นอย่างไร ผู้รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสังคมชุมชนนั้นๆเป็นเหตุให้อยู่ในที่ไหนๆได้ด้วยความสบายใจไม่มีเรื่องกระทบกระทั่งกับผู้อื่น ได้รับความไว้วางใจจากคนในชุมชน
๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา หมายถึง ความรู้จักบุคคลผู้ยิ่งหรือหย่อน คือ การรู้จักเลือกคบคน ด้วยการศึกษาอุปนิสัยใจคอความประพฤติ เป็นต้น แล้วรู้จักที่จะเลือกว่าคนเช่นใดควรคบคนเช่นใดไม่ควรคบ เมื่อรู้จักเลือกเช่นนี้ทำให้ได้คบหาแต่คนดีไม่คบคนเลว ทำให้สามารถเลือกใช้คนทำงานได้ถูกต้อง
สัปปุริสธรรม เป็นธรรมที่ทำให้ผู้ปฏิบัติตาม เป็นผู้ดีควรแก่การยกย่องนับถือ เป็นผู้ที่น่าคบหาสมาคมด้วย
อีกอย่างหนึ่ง(สัปปุริสธรรม ๗)
๑. สัตบุรุษประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ คือ มีศรัทธา มีความละอายต่อบาป มีความกลัวบาป เป็นคนได้ยินได้ฟังมาก เป็นคนมีความเพียร เป็นคนมีสติมั่นคง เป็นคนมีปัญญา
๒. จะปรึกษาสิ่งใดกับใครๆ ก็ไม่ปรึกษาเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๓. จะคิดสิ่งใดก็ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๔. จะพูดสิ่งใดก็พูดเพื่อไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น
๕. จะทำสิ่งใดก็ไม่ทำเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๖. มีความเห็นชอบ มีเห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
๗. ให้ทานโดยเคารพ คือเอื้อเฟื้อแก่ของที่ตัวเองให้ และผู้รับทานนั้น ไม่ทำอาการดุจทิ้งเสีย

โพชฌงค์ ๗
โพชฌงค์ หมายถึง ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ คือ ธรรมที่เป็นองค์ประกอบสนับสนุนให้ตรัสรู้ ให้บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นคุณธรรมที่ปลุกเร้าใจให้รู้ ให้ตื่น ให้เบิกบาน
๑. สติสัมโพชฌงค์ หมายถึง ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือสติ สติที่นึกถึงอารมณ์ในสติปัฏฐาน (กาย เวทนา จิต ธรรม) เป็นอารมณ์ การนึกถึงสิ่งที่เป็นอดีตที่ผ่านมาได้ การนึกถึงสิ่งที่เป็นปัจจุบัน สิ่งที่กำลังประสบอยู่เฉพาะหน้าได้ การนึกถึงอนาคตสิ่งที่จะพึงมีพึงเกิดในกาลข้างหน้าได้
๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ หมายถึง ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ คือ ธัมมวิจยะ ความเป็นผู้ฉลาดในการเลือกเฟ้น คัดสรรธรรมทั้งที่เป็นฝ่ายดีและไม่ดี ให้รู้ให้เห็นว่าธรรมฝ่ายดีคือกุศลเป็นธรรมที่ควรรู้ควรเห็น ควรบำเพ็ญให้เกิดมีในตนยิ่งขึ้น ธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดีคืออกุศล เป็นธรรมที่ไม่ควรรู้ไม่ควรเห็น แต่ควรละทิ้งไม่ให้เกิดขึ้นมีขึ้นในใจ
๓. วิริยสัมโพชฌงค์ หมายถึง ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือวิริยะ ความเพียรพยายามประคองจิต ปลุกเร้าใจให้เป็นไปในการละธรรมฝ่ายไม่ดี ให้ปฏิบัติในธรรมฝ่ายดีตามที่ได้เลือกเฟ้นแล้ว ไม่ให้เกิดความท้อถอยในการละและการปฏิบัติกล่าวโดยรวมก็คือ เพียรระวัง เพียรละ เพียรให้เกิดมี และ เพียรรักษา ในสัมมัปปธาน ๔ นั่นเอง
๔. ปีติสัมโพชฌงค์ หมายถึง ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือปีติ อาการเอิบอิ่มแช่มชื่นของจิตที่ต่อเนื่องจากการละอกุศลธรรม ปฏิบัติแต่กุศลธรรม ตามที่ได้เพียรพยายามนั้นเกิดเป็นความสุขใจ พอใจกับการปฏิบัติของตน ส่งผลให้ร่างกายพลอยสดชื่นแจ่มใสไปด้วย เมื่อมีกายใจเป็นสุขเช่นนี้ ก็สามารถปฏิบัติธรรมชั้นสูงได้โดยง่าย
๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ หมายถึง ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือปัสสัทธิ ความสงบใจและอารมณ์ เป็นผลสืบเนื่องมาจากกายใจที่เกิดความเอิบอิ่มซาบซ่านเพราะการปฏิบัติธรรมของตน เป็นเหตุให้กายและใจสงบ เมื่อมีความสงบใจก็เป็นสมาธิได้เร็วขึ้น
๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ หมายถึง ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือสมาธิ เป็นความตั้งมั่นแห่งจิตที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากกายและใจที่สงบแล้ว จิตสามารถจดจ่ออยู่ในอารมณ์กัมมัฎฐานจนแน่วแน่ อยู่กับอารมณ์นั้น ๆ สามารถบรรลุฌานต่างๆ เป็นลำดับขึ้นไป เพื่อเป็นฐานแห่งวิปัสสนาญาณต่อไป
๗. อุเปกขาสัมโพชฌงค์ หมายถึง ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ คือ อุเบกขา เป็นความวางเฉยในเมื่อได้อัปปนาสมาธิที่เป็นปฐมฌาน แล้วพยายามำเพ็ญเพียรต่อไปจนได้ฌานที่ ๒-๓-๔ ในฌานที่ ๔ นี้มีเอกัคคตาจิต เป็นจิตที่แน่วแน่มีอารมณ์เป็นหนึ่งและนิ่งเฉย จิตที่นิ่งเฉยเป็นเอกัคคตานี้แหละคืออุเบกขาเรียกว่า “ญาณอุเบกขา” คือการเพ่งดูจิตที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งแน่วแน่อยู่ด้วยความรู้ที่เกิดจากสมาธินั้น
โพชฌงค์ ๗ จัดลงในสิกขา ๓ ได้ ๒ สิกขา คือ สติ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ และ อุเบกขา เป็นจิตตสิกขา, ธัมมวิจยะ เป็นปัญญาสิกขา

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | cheap international calls