@ธรรมะ สวัสดีทุกท่าน@ @เชิญเขียนบทความเกี่ยวกับธรรมะได้ ครับ แล้วส่งมาที่charan_54@hotmail.co.th@ @บุญไม่ทำมัวแต่อ้วนวอน ระวังเทวดาจะย้อนว่า วอน วอน วอนเสียแล้ว@ @เดินอย่างมีความสุขที่ได้เดิน เราจะมีอนาคตอยู่ในปัจจุบัน@

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิชาธรรมวิภาค(นวกะ คือ หมวด ๙)

นวกะ คือ หมวด ๙
มละ คือ มลทิน ๙ อย่าง
มละ หมายถึง มลทิน คือสังกิเลสทั้ง ๙ นั้น เป็นเครื่องทำบุคคลให้เศร้าหมองทั้งภายในภายนอก
๑.โกธะ หมายถึง ความโกรธ เป็นความขุ่นแค้นหรือขัดเคืองของจิต ในเรื่องที่ไม่ถูกใจไม่ชอบใจตน หรือการเป็นคนขี้โมโหฉุนเฉียวเมื่อไม่ได้อย่างที่ใจของตนต้องการ เมื่อความโกรธเกิดขึ้น ควรระงับด้วยเมตตา รักใคร่อยากให้เขาเป็นสุข
๒.มักขะ หมายถึง ความลบหลู่คุณท่าน คือ การไม่รู้จักบุญคุณที่ผู้อื่นทำไว้แก่ตน เป็นผู้ขาดกตัญญูกตเวทิตาธรรม คิดแต่จะลบล้างคุณความดีของผู้อื่นที่มีต่อตน เมื่อความคิดลบหลู่บุญคุณท่านเกิดขึ้น ควรลบล้างด้วยกตัญญูกตเวทิตา รู้คุณแล้วทำตอบแทน
๓.อิสสา หมายถึง ความริษยา คือ ความอิจฉาตาร้อนเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีก็ทนอยู่ไม่ได้ ไม่อยากให้ผู้อื่นได้ดีไปกว่าตนคอยแต่จะกีดกันความดีของเขา เมื่อความริษยาเกิดขึ้น ควรชำระด้วยมุทิตา รู้จักแสดงความยินดีต่อผู้อื่น
๔.มัจฉริยะ หมายถึง ความตระหนี่ คือ ความเสียดายหวนแหนไม่กล้าสละสิ่งของของตนแก่ผู้อื่น คิดเห็นแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ส่วนตนไม่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่น เป็นผู้ที่มีจิตใจคับแคบ เมื่อความตระหนี่เกิดขึ้น ควรกำจัดด้วยทานหรือบริจาค
๕.มายา หมายถึง ความมีมารยา คือ การเป็นคนเจ้าเล่ห์ เหลี่ยมจัดชอบหลอกลวงผู้อื่น หรือชอบแกล้งปกปิดความผิดของตนด้วยการทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ทั้งที่ตนทำผิด เมื่อความมีมารยาเกิดขึ้น ควรแก้ด้วยอาชวะ ความเป็นคนชื่อตรง
๖.สาเถยยะ หมายถึง ความมักอวด คือ การพูดอวดสรรพคุณของตนเอง ว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อให้ผู้อื่นชื่นชมยกย่องตนว่าเป็นคนเก่งคนดี พูดง่ายๆ ก็คือเป็นคนอวดดี เมื่อความอวดดีเกิดขึ้น ควรละด้วยอัตตัญญุตา รู้จักประมาณตน และอปจายนะ ความอ่อนน้อมถ่อมตน
๗.มุสาวาท หมายถึง การพูดปดมดเท็จ คือ การพูดเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจไขว้เขวไปจากความจริง จากการกล่าว การแสดงท่าทางที่คลาดเคลื่อนของตน เมื่อมีนิสัยเป็นคนพูดเท็จ ควรแก้ด้วยสัจจวาจา การเป็นผู้ชอบกล่าวแต่ความจริง
๘.ปาปิจฉา หมายถึง ความปรารถนาอันลามก คือ ความอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตนในทางทีไม่ชอบธรรมด้วยการหลอกลวงต้มตุ๋นเขา หรือการล่อลวงผู้อื่น เพื่อให้ในสิ่งที่ตนต้องการ เมื่อมีความอยากได้ในทางที่ชั่วเกิดขึ้น แก้ด้วยความสันโดษ ยินดีในสิ่งที่ตนพึงมีพึงได้
๙.มิจฉาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นผิด คือความเห็นที่ผิดไปจากคลองธรรม จากความเป็นจริง เป็นเหตุให้ปฏิเสธเรื่องบาปบุญคุณโทษ สามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง เมื่อเกิดความเห็นผิดขึ้น ควรแก้ด้วยสัมมาทิฎฐิ มีความเห็นถูกต้องตามคลองธรรม

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | cheap international calls