@ธรรมะ สวัสดีทุกท่าน@ @เชิญเขียนบทความเกี่ยวกับธรรมะได้ ครับ แล้วส่งมาที่charan_54@hotmail.co.th@ @บุญไม่ทำมัวแต่อ้วนวอน ระวังเทวดาจะย้อนว่า วอน วอน วอนเสียแล้ว@ @เดินอย่างมีความสุขที่ได้เดิน เราจะมีอนาคตอยู่ในปัจจุบัน@

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิชาพุทธประวัติ

ความสำคัญของพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน                สถาบันหลักที่สำคัญของสังคมไทยมี 3 สถาบัน ได้แก่ สถาบันชาติ  สถาบันศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์   เราถือว่าสถาบันชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์  เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ  ส่วนสถาบันศาสนาซึ่งหมายถึง พระพุทธศาสนา  ถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชน    พุทธศาสนิกชน   หมายถึง  ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนามีความเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัย   อันได้แก่   พระพุทธ    พระธรรม   พระสงฆ์    บางทีเราเรียกว่าพุทธศาสนิกชนว่า ชาวพุทธ ก็ได้     ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรทั้งประเทศประมาณ  65  ล้านคน มีผู้นับถือพระพุทธศาสนาประมาณ  62  ล้านคน    มีประชากรเพียงประมาณ   3   ล้านคนเท่านั้นที่นับถือศาสนาอื่น  ดังนั้น   เราจึงกล่าวได้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนหรือชาวพุทธ
 

1. ข้อใดไม่ใช่ส่วนประกอบของพระรัตนตรัย   
 
ก. พระพุทธ       
 
ข. พระธรรม       
 
ค. พระศาสนา
      
 
ง. พระสงฆ์


พุทธประวัติ 1
พุทธประวัติ   หมายถึง  ประวัติของพระพุทธเจ้า  ซึ่งเป็นศาสดาของพระพุทธศาสนา    พระพุทธเจ้ามีพระนามเดิมว่า  เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ    กษัตริย์ศากยวงศ์   ผู้ปกครองเมืองกบิลพัสดุ์   และพระนางสิริมหามายาเจ้าหญิงจากโกลิยวงศ์ แห่งเมืองเทวทหะ ประสูติในวันขึ้น  15  ค่ำ เดือน 6   ก่อนพุทธศักราช   80   ปี    สวนลุมพินีวัน  อยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะ  ปัจจุบันอยู่ที่ตำบลรุมมินเด   ประเทศเนปาล เมื่อพระกุมารประสูติได้   3  วัน   อสิตดาบส  ได้ขอเข้าเฝ้าชมพระบารมี ครั้งเห็นพระกุมาร     จึงทำนายว่า    พระกุมารนี้ถ้าอยู่ครองราชสมบัติจะได้เป็นพระจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่  ถ้าเสด็จออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลกเมื่อพระกุมารประสูติได้   5  วัน พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้มีพิธีขนาน     พระนามและทำนายลักษณะของพระกุมาร  พระกุมารได้พระนามว่า  สิทธัตถะ แปลว่า  ผู้มีความสำเร็จสมปรารถนา  จากนั้นพราหมณ์ได้ทำนายพระลักษณะของพระกุมาร  พราหมณ์ส่วนใหญ่ทำนายเหมือนที่อสิตดาบสได้ทำนายไว้   มีเพียงพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งชื่อ  โกณฑัญญะ  ทำนายว่า  พระกุมารจะเสด็จออกบวช  และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน

   2. ใครเป็นคนทำนายว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะเสด็จออกบวชและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า    
ก. พราหมณ์       
ข. พระอัสสชิ
       
ค.โกณฑัญญะ
       
ง. พระเจ้าสุทโธทนะ
  


พุทธประวัติ 2
เมื่อพระกุมารประสูติได้ 7  วัน  พระมารดาก็สวรรคต   พระเจ้าสุทโธทนะจึงโปรดให้ พระนางปชาบดีโคตมีซึ่งเป็นพระขนิษฐา (น้องสาว)  ของพระนางสิริมหามายาทรงเลี้ยงดูพระกุมารพระเจ้าสุทโธทนะต้องการให้พระราชโอรสครองราชสมบัติต่อจากพระองค์ ไม่ต้องการให้เสด็จออกบวช   ครั้งเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเจริญวัยอันสมควรที่จะได้รับการศึกษาเล่าเรียน พระองค์จึงทรงให้เข้าศึกษาวิชาความรู้ในสำนักครูวิศวามิตร  เจ้าชายสิทธัตถะทรงขยันหมั่นเพียร  มีสติปัญญา เฉลียวฉลาด   สามารถศึกษาวิชาความรู้ต่าง    จนจบในเวลาอันรวดเร็ว ครั้งเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุ  16  พรรษา  พระเจ้าสุทโธทนะทรงโปรดให้สร้างปราสาท  3  หลัง ให้เป็นที่ประทับอย่างสุขสบายทั้ง  3  ฤดู  และ ทรงขอเจ้าหญิงยโสธราหรือพิมพามาอภิเษกเป็นพระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะด้วยมี พระประสงค์จะโน้มน้าวใจให้เจ้าชายสิทธัตถะอยู่ครองราชสมบัติ
 

 3. พระเจ้าสุทโธทนะใช้วิธีใดในการโน้มน้าวไม่ให้เจ้าชายสิทธัตถะออกบวช    
ก. ให้ไปอยู่หัวเมือง
       
ข. ให้อภิเษกกับเจ้าหญิงยโสธรา
       
ค. ให้ไปศึกษาหาความรู้ตามที่ชอบ
       
ง. กักขังให้อยู่แต่ปราสาท ไม่ให้ออกไปไหน
  


พุทธประวัติ  3
เจ้าชายสิทธัตถะทรงประทับอยู่ในปราสาททั้ง  3  หลังอย่างสุขสบาย  วันหนึ่งได้เสด็จประพาสพระนคร   ทรงพบเห็นคนแก่   คนเจ็บ   คนตายและนักบวช  ทั้ง  4  นี้  รวมเรียกว่า  เทวทูต     เจ้าชายสิทธัตถะทรงสลดพระทัยที่ทรงเห็นคนแก่   คนเจ็บ  และคนตาย   ทรงพอพระทัยที่เห็นนักบวช     พระองค์ทรงนำสิ่งที่พบเห็นมาพิจารณาไตร่ตรอง   ทรงพบว่า   ชีวิตนี้มีแต่ความทุกข์  ทำอย่างไรจึง   จะพ้นทุกข์   ทรงคิดว่าชีวิตการครองเรือนของพระองค์แม้จะเป็นกษัตริย์ที่มีความสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง     แต่ก็ยังคับแคบจำกัด   ไม่มีทางแก้ไขให้ตนเองและผู้อื่นได้พ้นจากความทุกข์ได้  มีทางเดียวเท่านั้นที่จะคิดค้นหาทางพ้นทุกข์ได้    คือ   การออกบวชเจ้าชายสิทธัตถะทรงครุ่นคิดเรื่องการเสด็จออกบวชอยู่ตลอดเวลา  จนกระทั้งพระชนมายุ      29   พรรษา   พระนางยโสธราประสูติพระโอรสพระนามว่า  ราหุล  แม้ว่าจะทรงห่วงใยพระโอรส         แต่ด้วยมีพระประสงค์ที่จะหาทางช่วยเหลือชาวโลกให้พ้นทุกข์   หากอยู่อย่างนี้ต่อไปคงไม่มีทางพ้นทุกข์ได้  ดังนั้นในกลางดึกคืนนั้นพระองค์จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกบวช โดยทรงม้าพระที่นั่งชื่อ     กัณฐกะ และมีนายฉันนะ  มหาดเล็กคนสนิทตามเสด็จ 
 

 4. ม้าพระที่นั่งที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้าออกผนวชมีชื่อว่าอะไร    
ก. ฉันนะ
       
ข. กัณฐกะ
       
ค. ราหุล

ง. เทวฑูต  


พุทธประวัติ 4
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมา  ซึ่งเป็นแม่น้ำแบ่งเขตแดนระหว่างแคว้นสักกะ   แคว้นโกศล   และแคว้นวัชชี   ทรงปลงผม  โกนหนวดทิ้ง  ทรงครองเพศเป็นนักบวช   แล้วส่งนายฉันนะและม้ากัณฐกะกลับกรุงกบิลพัสดุ์   จากนั้นพระองค์เสด็จไปยังแคว้นมคธ     พระเจ้าพิมพิสาร  กษัตริย์ผู้ครองเมืองราชคฤห์  เมืองหลวงของแคว้นมคธ  ทราบข่าวการเสด็จมาของเจ้าชายสิทธัตถะ จึงเสด็จออกไปต้อนรับและทรงเชิญให้ครองเมืองด้วยกัน แต่พระสิทธัตถะทรงปฏิเสธ  จากนั้นได้เสด็จไปยังสำนักอาฬารดาบส  และสำนักอุททกดาบส ทรงศึกษาและค้นคว้าอยู่ที่สำนักทั้ง  2  นี้ จนได้สำเร็จฌานสูง  แต่ทรงเห็นว่ายังไม่ใช่หนทางที่จะพ้นทุกข์   เพราะทรงรู้ว่าจิตใจของพระองค์ยังมีรัก  โลภ  โกรธ   หลง จึงอำลาอาจารย์ทั้งสองไปบำเพ็ญเพียรด้วยตนเอง โดยเสด็จมุ่งหน้าสู่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  ซึ่งปัจจุบันอยู่ในตำบลพุทธคยา  ประเทศอินเดีย 

5.  เจ้าชายสิทธัตถะทรงปลงครองเพศเป็นนักบวช ณ ที่ใด    
ก. แคว้นมคธ
       
ข. ใต้ต้นไทร
       
ค. แคว้นโกศล

ง. ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา


ตรัสรู้  1
เมื่อเสด็จถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  พระสิทธัตถะได้ทรงบำเพ็ญ  ทุกรกิริยา  คือ การทรมานกายให้ลำบากด้วยวิธีการต่าง ๆ   เช่น  กัดฟัน  กลั้นลมหายใจ  อดอาหาร เป็นต้น ทรงทรมานพระวรกายจนร่างกายผ่ายผอม  โดยมีปัญจวัคคีย์  ซึ่งประกอบด้วยพราหมณ์   5   คน  ได้แก่     โกณฑัญญะ    วัปปะ   ภัททิยะ   มหานามะ และอัสสชิ    คอยปรนนิบัติดูแลอย่างใกล้ชิด                ต่อมาพระสิทธัตถะทรงเห็นว่า  การทรมานกายให้ลำบากด้วยวิธีเหล่านี้ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์     จึงเลิก     หันไปบำรุงพระวรกายให้มีกำลัง   ฝ่ายปัญจวัคคีย์เห็นพระสิทธัตถะเลิกทรมานพระวรกาย     ก็คิดว่าพระองค์คงไม่สามารถตรัสรู้ได้จึงแยกไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน    เมืองพาราณสี
      พระ สิทธัตถะทรงเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิตตามหลักการของฌานหรือสมาธิที่ทรงเคย ปฏิบัติมาก่อนจากสำนักของอาฬารดาบสและอุททกดาบส โดยทรงยึดทางสายกลางที่เรียกว่า   มัชฌิมาปฏิปทา
 
 6.  ทำไมปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 จึงเดินทางกลับป่าอิสิปตนมฤคทายวัน        
ก. เพราะเบื่อการเป็นพราหมณ์แล้ว
       
ข. เพราะไม่อยากเป็นพระอรหันต์แล้ว
       
ค. เพราะคิดว่าพระสิทธัตถะคงไม่สามารถตรัสรู้ได้

ง. เพราะที่นั้นเงียบสงบเหมาะกับการบำเพ็ญทุกรกิริยา


ตรัสรู้ 2
ครั้งถึงเช้าของวันขึ้น   15  ค่ำ   เดือน  6 ขณะที่พระสิทธัตถะประทับอยู่ที่ใต้ต้นไทรหรือ      ต้นนิโครธ    ริมแม่น้ำเนรัญชรา   นางสุชาดาลูกสาวของหัวหน้าหมู่บ้านในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม    นำข้าวมธุปายาสมาถวาย     ด้วยเข้าใจว่าเป็นเทวดา   เมื่อฉันข้าวมธุปายาสแล้ว  ทรงนำถาดไปลอยที่แม่น้ำแล้วทรงพักผ่อนที่ดงไม้สาละ  ตอนเย็นเสด็จไปยังต้นมหาโพธิ์   ทรงรับหญ้าคา  8   กำ จากโสตถิยพราหมณ์นำมาปูลาดเป็นอาสนะ    ใต้ต้นมหาโพธิ์  ประทับนั่งหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แล้วทรงตั้งพระทัยว่า ถ้าไม่ตรัสรู้ทาง         พ้นทุกข์จะไม่ลุกไปไหน                พระสิทธัตถะทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตทำให้จิตเป็นสมาธิ ในที่สุดเมื่อใกล้รุ่งของวันขึ้น 15 ค่ำ    เดือน  6   ก่อนพุทธศักราช  45 ปี   ก็ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดยทรงรู้แจ้งธรรม  4 ประการ  เรียกว่า  อริยสัจ  4   คือ ทุกข์   สมุทัย  นิโรธและมรรค รวมเวลาตั้งแต่เสด็จออกบวชจนถึงตรัสรู้  เป็นเวลา
6   ปี  ขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุ   35    พรรษา

7.  พระสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดยทรงรู้เห็นธรรมใด      
ก. อริยสัจ 4
       
ข. การดับทุกข์
       
ค. ทางสายกลาง

ง. พรหมวิหาร 4


การประกาศพระธรรม  1
เมื่อตรัสรู้แล้วพระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่พระธรรมที่ทรงตรัสรู้ พระองค์ทรงระลึกถึง  อาฬารดาบสและอุททกดาบส  ทรงทราบว่าสิ้นชีวิตแล้ว  จึงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ก็ทรงทราบว่า  ขณะนี้อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน   จึงได้เสด็จไปแสดงธรรมชื่อ  ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  แก่ปัญจวัคคีย์        ในวันขึ้น   15   ค่ำ   เดือน  8    การแสดงธรรมครั้งนี้เรียกว่า  ปฐมเทศนา  โกณฑัญญะเกิดดวงตาเห็นธรรมขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา          ส่วนวัปปะ  ภัททิยะ มหานามะ  และอัสสชิ   ได้ฟังธรรมแล้วก็เลื่อมใสจึงขอบวช  จากนั้น    ได้แสดงธรรมแก่พระภิกษุทั้ง  5   จนได้สำเร็จพระอรหันต์ทั้งหมด  ขณะนั้นจึงมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก 6  องค์  รวมทั้งพระพุทธเจ้า  และเกิดพระรัตนตรัยทั้ง 3  คือ พระพุทธ  พระธรรม   พระสงฆ์
 


8.  ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ คือธรรมในข้อใด      
ก. อริยสัจ 4
       
ข. พรหมวิหาร 4
       
ค. หนทางสู่การดับทุกข์

ง.  ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร


การประกาศพระธรรม 2
พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันพร้อมกับปัญจวัคคีย์ในระหว่างพรรษา      มีชาวเมืองพาราณสีได้ฟังธรรมจนสำเร็จอรหันต์     และได้ขอบวชเป็นพระสงฆ์สาวกอีก 55  องค์ จึงมีพระอรหันต์ทั้งหมดรวมทั้งพระพุทธเจ้าด้วย   61  องค์  ในจำนวนพระอรหันต์  55 องค์หลังนี้  มีหัวหน้าชื่อ   พระยสะ   กุลบุตร            ต่อมาบิดามารดาและอดีตภรรยาของพระยสะ   กุลบุตร ได้มาฟังธรรมและเลื่อมใสประกาศตนเป็นอุบาสกและอุบาสิกา  จึงนับเป็นอุบาสกและอุบาสิกาคนแรกของพระพุทธศาสนา   

9.  อุบาสกและอุบาสิกาคนแรกของพระพุทธศาสนาคือใคร       
ก. ภรรยาของโกณฑัญญะ  

ข. บิดามารดาของโกณฑัญญะ  
ค. น้องของพระยสะ   กุลบุตร
       
ง. บิดามารดาของพระยสะ   กุลบุตร


การประกาศพระธรรม 3
พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่ามีสาวกจำนวนมากพอที่จะส่งไปเผยแผ่พระศาสนาได้แล้ว  จึงทรงมอบหลักการในการไปประกาศเผยแผ่พระศาสนาแก่พระสาวกทั้งหมดว่า    ขอให้แยกย้ายกันไปประกาศพระศาสนาเพื่อยังประโยชน์และความสุขแก่ชาวโลก      เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลชาวโลก   โดยแยกย้ายกันไปแห่งละ 1   องค์   อย่ารวมกันไป  ภิกษุทั้งหลายแม้เราก็จะไปยังอุรุเวลาเสนานิคม   จากนั้นสาวกทุกองค์ต่างแยกย้ายกันไปประกาศพระศาสนาตามเมืองและแคว้นต่าง ๆ  ส่วนพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  ระหว่างทางได้พบชายหนุ่ม  30   คน  เรียกว่า กลุ่มภัททวัคคีย์   ทรงแสดงธรรมให้ฟัง   ทั้งหมดได้สำเร็จพระอรหันต์กราบทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ  

 10.  พระพุทธเจ้าทรงเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ใด       
ก.  แคว้นวัชชี
     
ข.   เมืองไพศาลี
       
ค.  แคว้นพาราณสี
                      
ง.  ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
 


โปรดชฎิล
    ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา   มีสำนักของชฎิล 3  พี่น้อง  ซึ่งเป็นนักบวชที่บูชาไฟ   พี่ชายใหญ่ชื่อ  อุรุเวลกัสสปะ คนกลางชื่อ  นทีกัสสปะ  และคนน้องชื่อ คยากัสสปะ    มีบริวารทั้งสิ้น   1,000   คน   เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม    ก็ได้เสด็จไปยังสำนักของชฎิล 3 พี่น้อง   ด้วยทรงเห็นว่าชฎิล   3    พี่น้องเป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองราชคฤห์  ถ้าทำให้ชฎิลนับถือคำสั่งสอนของพระองค์ได้   การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแคว้นมคธจะง่ายขึ้น   พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในสำนักชฎิล   3    พี่น้องเป็นเวลาประมาณ   2  เดือน ได้ทรงแสดงธรรมแก่ชฎิล    3   พี่น้องและบริวาร   จนทั้งหมดได้หันมานับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และกราบทูลขอบวชเป็นพระสาวก  พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมอบรมจนทั้งหมดได้สำเร็จพระอรหันต์   

11.  พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ใครที่ริมแม่น้ำเนรัญชรา         
ก.  ชฎิล 3  พี่น้อง 
       
ข.  พระเจ้าพิมพิสาร
       
ค.  พราหมณ์ 3 พี่น้อง
                      
ง.   ชาวเมืองราชคฤห์
 


โปรดพระเจ้าพิมพิสาร
พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยชฎิล   3   พี่น้อง  เสด็จเข้าเมืองราชคฤห์  ทรงพักอยู่ที่ลัฏฐิวันหรือ     สวนตาลหนุ่ม   พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบข่าว   จึงได้พาข้าราชบริพารไปเข้าเฝ้า  พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้ฟัง  พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยข้าราชบริพาร และประชาชนที่เข้าเฝ้าเกิดความเลื่อมใสศรัทธาประกาศตนขอนับถือพระพุทธศาสนา  พระเจ้าพิมพิสารได้สำเร็จมรรคผลเป็นโสดาบัน   พระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จไปฉันอาหารในพระราชนิเวศน์   ในวันรุ่งขึ้นพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก   หลังจากถวายอาหารเสร็จแล้วพระเจ้าพิมพิสารทรงหลั่งน้ำใส่พระหัตถ์พระพุทธเจ้า  ยกอุทยานสวนป่าไผ่ที่เรียกว่า  พระเวฬุวัน  ถวายเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก    พระเวฬุวันจึงเป็นวัดพระพุทธศาสนาแห่งแรกของโลก
 


12.  วัดพระพุทธศาสนาแห่งแรกของโลก คือวัดใด       
ก.  วัดพระแก้ว

ข.  วัดพระเวฬุวัน
ค.  วัดมงคลบพิตร  
        
ง.  วัดอรุณราชวรมหาวิหาร

พระอัครสาวก
ในเมืองราชคฤห์มีชายหนุ่ม    2  คน    เป็นเพื่อนรักกันชื่อ  อุปติสสะ และ โกลิตะ  ได้พาพรรคพวกบริวาร  250  คน  ไปบวชอยู่ในสำนักสญชัยปริพาชกเพื่อแสวงหาทางตรัสรู้  แต่เรียนจบความรู้ของสญชัยปริพาชกแล้ว  ก็ยังไม่พบทางตรัสรู้  จึงลาออกจากสำนักสญชัยปริพาชก แยกย้ายกันไปแสวงหาหนทางตรัสรู้ด้วยตนเอง  แต่ก็สัญญากันว่า  ถ้าใครพบทางตรัสรู้ก่อนก็ให้มาบอกด้วย          อุปติสสะได้พบพระอัสสชิ  หนึ่งในปัญจวัคคีย์  เกิดความเลื่อมใสในอิริยาบถได้เข้าไปขอให้แสดงธรรมให้ฟัง   อุปติสสะเกิดความเข้าใจในธรรมบรรลุมรรคผลเป็นโสดาบัน จากนั้นได้ลาพระอัสสชิและกลับไปบอกโกลิตะ  โกลิตะได้ฟังธรรมที่อุปติสสะนำมาบอกก็ได้บรรลุมรรคผลเป็นโสดาบันเช่นกัน  จึง ได้พาพรรคพวกบริวารไปเข้าเฝ้าขอบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน อุปติสสะเมื่อบวชแล้วได้ชื่อใหม่ว่าสารีบุตร ท่านบวชได้ 15 วัน    จึงบรรลุเป็นพระอรหันต์    ต่อมาได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ให้เป็น  อัครสาวกฝ่ายขวา ผู้มีความเป็นเลิศด้านปัญญา                ส่วนโกลิตะได้ชื่อใหม่ว่า   โมคคัลลานะ   บวชได้  7  วัน  ก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์     และได้รับการยกย่องให้เป็น   อัครสาวกฝ่ายซ้าย  ผู้มีความเป็นเลิศด้านมีฤทธิ์  คือมีความสามารถพิเศษที่ได้จากการทำสมาธิ     เช่น    เหาะเหินเดินอากาศได้   เป็นต้น
 


13.  ใครได้รับการยกย่องให้เป็นอัครสาวกฝ่ายขวา      
ก.  
โกลิตะ
      
ข.  พระอัสสชิ      
      
ค.  พระสารีบุตร 
      
ง.  พระโมคคัลลานะ


แสดงโอวาทปาฏิโมกข์
ในวันขึ้น 15  ค่ำ  เดือน 3   ในปีถัดมา  หลังจากตรัสรู้  ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่      พระเวฬุวัน    เมืองราชคฤห์   พระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ที่ออกไปเผยแผ่พระธรรมยังที่ต่าง     ได้กลับมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย  จำนวน  1,250  รูป  พระพุทธเจ้าทรงเห็นเป็นโอกาสเหมาะ    จึงทรงให้จัดประชุมพระสาวกขึ้นในวันนั้น และทรงแสดงธรรมที่เรียกว่า     โอวาทปาฏิโมกข์  โอวาทปาฏิโมกข์    เป็นพระธรรมที่ถือว่าเป็นหลักการของพระพุทธศาสนา  คือ สอนให้ละเว้นการทำความชั่ว   ให้กระทำแต่ความดี    และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส
 

14.  พระธรรมที่ถือว่าเป็นหลักการของพระพุทธศาสนา คือข้อใด    
ก.  อริยสัจ 4         
ข.  อิทธิบาท 4

ค.  พรหมวิหาร 4 
 
ง.  โอวาทปาฏิโมกข์


จาตุรงคสันนิบาต
การประชุมพระสาวกครั้งนี้มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ     4    ประการ    คือ            
    1.  เป็นวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง    เดือน    3              
    2.  พระสงฆ์ที่มาประชุมมาพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย                
    3.  พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์                 
    4.  พระสงฆ์ทั้งหมดพระพุทธเจ้าเป็นผู้บวชให้             
   ด้วยเหตุนี้การประชุมครั้งนี้จึงเรียกว่า    จาตุรงคสันนิบาต 





15.  ข้อใดไม่ใช่ ลักษณะของ จาตุรงคสันนิบาต      
ก.  วันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง
   
ข.  พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์   
ค.  พระสงฆ์นัดหมายกันมาประชุมพร้อมกัน
ง.  พระสงฆ์ทั้งหมดพระพุทธเจ้าเป็นผู้บวชให้


พุทธบริษัท    4
พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกได้เผยแผ่พระศาสนาไปยังเมืองและแคว้นต่าง  ๆ ทั้งแคว้นเล็กและแคว้นใหญ่     จนพระพุทธศาสนาเริ่มเป็นปึกแผ่นมั่นคง  โดยมีบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญ  4 กลุ่ม     ซึ่งเรียกว่า    พุทธบริษัท   4   ได้แก่   ภิกษุ    ภิกษุณี     อุบาสก   และอุบาสิกา                พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาเป็นเวลาทั้งหมด  45   ปี  รวมพระชนมายุได้  80  พรรษา   ในวันขึ้น   15  ค่ำ   เดือน   6   จึงเสด็จปรินิพพานที่เมืองกุสินารา  แคว้นมัลละ ก่อนปรินิพพานได้เทศนาแก่   สุภัททปริพาชก   จนได้สำเร็จอรหันต์และบวชเป็นพระสาวกองค์สุดท้าย
                เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว  พระสงฆ์ได้สืบทอดพระพุทธศาสนา   พระพุทธศาสนาได้รับการเผยแผ่ไปยังประเทศต่าง      รวมทั้งประเทศไทยด้วย
 
 
16.  ใครเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายที่พระพุทธเจ้าบวชให้      
ก.  มหานามะ     
      
ข.  พระสารีบุตร
       
ค.  พระเจ้าพิมพิสาร
       
ง.  สุภัททปริพาชก
      

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | cheap international calls