@ธรรมะ สวัสดีทุกท่าน@ @เชิญเขียนบทความเกี่ยวกับธรรมะได้ ครับ แล้วส่งมาที่charan_54@hotmail.co.th@ @บุญไม่ทำมัวแต่อ้วนวอน ระวังเทวดาจะย้อนว่า วอน วอน วอนเสียแล้ว@ @เดินอย่างมีความสุขที่ได้เดิน เราจะมีอนาคตอยู่ในปัจจุบัน@

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิชาธรรมวิภาค(ปัญจกะ คือ หมวด ๕)

ปัญจกะ คือ หมวด ๕

อนันตริยกรรม ๕
อนันตริยกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลไม่มีระหว่างคั่นเป็นกรรมที่ส่งผลทันทีในเวลาเมื่อผู้กระทำกรรม ๕ อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่งตายลง ไม่มีกรรมอื่นมาให้ผลคั่นกลาง จัดเป็น ครุกรรม คือ เป็นกรรมหนักไม่มีกรรอื่นมาให้ผลมากกว่า
๑. มาตุฆาต คือ การฆ่ามารดา
๒. ปิตุฆาต คือ การฆ่าบิดา
๓. อรหันตฆาต คือ การฆ่าพระอรหันต์
๔. โลหิตุปบาท คือ การทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
๕. สังฆเภท คือ การยังสงฆ์ให้แตกจากกัน
กรรม ๕ อย่างนี้ เป็นบาปอันหนักที่สุดห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ตั้งอยู่ในฐานปาราชิกของผู้ถือพระพุทธศาสนา ห้ามไม่ให้ทำเป็นเด็ดขาด

อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕
อภิณหปัจจเวกขณ์ หมายถึง ข้อปฏิบัติที่ควรพิจารณาอยู่เนืองๆ เรื่องที่ควรพิจารณาทุกๆวัน คือ
๑. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้
๓. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
๔. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
๕. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว

เวสารัชชกรณธรรม ๕ อย่าง
เวสารัชชกรณธรรม หมายถึง ธรรมที่ทำความกล้าหาญธรรมเป็นเหตุให้เกิดความแกล้วกล้า บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นผู้องอาจแกล้วกล้าไม่หวั่นไหวในการเข้าสู่สมาคมต่างๆ
๑. สัทธา หมายถึง เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาและเหตุผล
๒. สีล หมายถึง ความเป็นปกติ ความสงบเย็น รักษากายวาจาให้เรียกร้อย
๓. พาหุสัจจะ หมายถึง ความเป็นผู้ศึกษามาก มีความรู้มีประสบการณ์มาก
๔. วิริยารัมภะ หมายถึง การปรารภความเพียร ลงมือทำกิจด้วยความเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค์ที่เกิดขึ้น
๕. ปัญญา หมายถึง รอบรู้สิ่งที่ควรรู้ รู้ทั่วถึงเหตุและผล ถึงสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ

องค์แห่งภิกษุใหม่ ๕ อย่าง
๑. สำรวมในพระปาติโมกข์ คือ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต
๒. สำรวมอินทรีย์ คือ ระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ยินดียินร้ายในเวลาที่เห็นรูปด้วยนัยน์ตาเป็นต้น
๓. ความเป็นคนไม่เอิกเกริกเฮฮา คือ ไม่เป็นผู้คึกคะนองสรวลเสเฮฮา
๔. อยู่ในเสนาเสนะอันสงัด คือสถานที่อันสงบเงียบปราศจากสิ่งรบกวน
๕. มีความเห็นชอบ คือ มีความเห็นที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
ภิกษุใหม่ควรตั้งอยู่ในธรรม ๕ อย่างนี้

องค์แห่งธรรมกถึก คือ นักเทศก์ ๕ อย่าง
๑. แสดงธรรมโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ
๒. อ้างเหตุผลแนะนำให้ผู้ฟังเข้าใจ
๓. ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง
๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ
๕. ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น คือว่า ไม่ยกตนเสียดสีผู้อื่น
ภิกษุผู้ได้ธรรมกถึก พึงตั้งองค์ ๕ อย่างนี้ไว้ในตน
ธัมมัสสวนานิสงส์ ๕ อย่าง
ธัมมัสสวนานิสงส์ หมายถึง อานิสงส์ของการฟังธรรมผลดีที่เกิดแต่การฟังธรรมมี ๕ ประการ
๑. ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๒. สิ่งใดได้เคยฟังแล้ว แต่ไม่เข้าใจชัดย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัด
๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้
๔. ทำความเห็นให้ถูกต้องได้
๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส
การฟ้งธรรมที่จะได้ผลเป้นความรู้อย่างเต็มที่ ผู้ฟังต้องตั้งใจฟังธรรมโดยเคารพ มีสติพิจารณาไปตามกระแสแห่งธรรมที่ท่านแสดง ดังมีพุทธดำรัสรับรองว่า “สุสสูสัง ละภะเต ปัญญัง” ผู้ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา

พละ ๕ อย่าง
พละ หมายถึง กำลัง ธรรมทั้ง ๕ ที่ได้ชื่อว่า พละเพราะเมื่อใจได้ธรรมทั้ง ๕ นี้เป็นกำลังแล้ว ย่อมเข้มแข็งในการทำความดีตามที่ตนปราถนา
๑. สัทธา หมายถึง ความเชื่อ
๒. วิริยะ หมายถึง ความเพียร
๓. สติ หมายถึง ความระลึกได้
๔. สมาธิ หมายถึง ความตั้งใจมั่น
๕. ปัญญา หมายถึง ความรอบรู้
อินทรีย์ ๕ ก็เรียก เพราะเป็นใหญ่ในกิจของตน
นิวรณ์ ๕
นิวรณ์ หมายถึง ธรรมเป็นเครื่องปิดกั้นหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี ไม่เปิดโอกาสให้ทำความดี และเป็นเครื่องกั้นความดีไว้ไม่ให้เข้าถึงจิต
๑. กามฉันท์ หมายถึง ความพอใจรักใคร่ในกามคุณ ๕ มี รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ คนผู้มีกามฉันท์เป็นเจ้าเรือนมักรักสวยรักงาม แก้ด้วยการเจริญอสุภกัมมัฎฐานพิจารณาซากศพ หรือ เจริญกายคตาสติ พิจารณาร่างกายที่มีชีวิตอยู่ให้เห็นเป็นของน่าเกลียด
๒. พยาบาท หมายถึง ความโกรธจัดด้วยกำลังโทสะอย่างแรง คิดจองล้างจองผลาญผู้อื่น คนผู้มีพยาบาทเป็นเจ้าเรือน มักโกรธง่ายโมโหร้าย แก้ด้วยการแผ่พรหมวิหารธรรม ๓ ข้อ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อบรมจิตให้กลับคิดไปในทางให้เกิดความรักสงสาร และพลอยยินดีต่อผู้อื่น
๓. ถีนมิทธะ หมายถึง ความหดหู่ท้อแท้ และเคลิบเคลิ้มเศร้าซึมแห่งจิต คนผู้มีถีนมิทธะเป็นเจ้าเรือน มักย่อท้อในกิจการงานที่ต้องทำ แก้ด้วยการเจริญอนุสสติกัมมัฏฐาน พิจารณาความดีของตนหรือคุณของพระรัตนตรัย เป็นต้น เพื่อให้ใจเกิดความมานะบากบั่นอดทนต่อการทำกิจ
๔. อุทธัจจกุกุจจะ หมายถึง ความฟุ้งซ่าน อึดอัด กลัดกลุ้ม วิตกกังวล และความรำคาญใจ ทำให้ใจไม่อยู่เป็นปกติ คนผู้มี อุทธัจจกุกุจจะ เป็นเจ้าเรือน มักมีจิตใจไม่มั่นคงแก้ด้วยการเพ่งกสิณเพื่อให้ใจแน่วแน่ในอารมณ์อันเดียว หรือเจริญมรณัสสติกัมมัฏฐานเพื่อให้ใจเกิดธรรมสังเวช
๕. วิจิกิจฉา หมายถึง ความลังเลสงสัยติดสินใจไม่ได้ คนผู้มีวิจิจกิจฉาเป็นเจ้าเรือน แก้ด้วยการเจริญธาตุกัมมัฏฐาน หรือ วิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อกำหนดรู้เท่าทันสภาวธรรมตามที่เป็นอยู่
ขันธ์ ๕
ขันธ์ แปลว่า กอง ใช้หมายถึงร่างกายของมนุษย์ เมื่อแยกร่างกายออกเป็นกองๆ ได้เป็น ๕ กอง คือ
๑.รูป หมายถึง ส่วนที่ผสมกันของธาตุ ๕ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม รวมเข้าเป็นกาย. รูปในขันธ์ ๕ หมายถึงรูปที่มีใจครองที่เรียกว่า อุปาทินนกสังขาร ต่างจากรูปในอายตนะภายนอก หมายเอารูปที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา
๒.เวทนา หมายถึง ระบบที่รับคือรู้สึกอารมณ์ของสิ่งที่มาสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดความรู้สึกที่เป็นสุข ชอบใจ เป็นทุกข์ ไม่ชอบใจ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ มีอาการเฉยๆ
๓.สัญญา หมายถึง ระบบจำสิ่งที่รับรู้นั้นไว้ได้
๔.สังขาร หมายถึง ระบบคิดปรุงแต่ง แยกแยะสิ่งที่รับรู้และจำได้นั้นไม่ว่าจะดี จะชั่ว หรือเป็นกลางๆ ซึ่งแตกต่างจากสังขารในไตรลักษณ์ที่หมายเอาสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้นทั้งที่เป็นอุปาทินนกสังขาร และอนุปาทินนกสังขาร
๕.วิญญาณ หมายถึง ระบบรู้ของจิตต่อสิ่งที่มากระทบรู้ถึงสิ่งที่มาสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น มีรูปมากระทบทางตา ก็รู้ว่าเป็นรูปอะไร เป็นต้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | cheap international calls