@ธรรมะ สวัสดีทุกท่าน@ @เชิญเขียนบทความเกี่ยวกับธรรมะได้ ครับ แล้วส่งมาที่charan_54@hotmail.co.th@ @บุญไม่ทำมัวแต่อ้วนวอน ระวังเทวดาจะย้อนว่า วอน วอน วอนเสียแล้ว@ @เดินอย่างมีความสุขที่ได้เดิน เราจะมีอนาคตอยู่ในปัจจุบัน@

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิชาธรรมวิภาค (ติกะ คือ หมวด ๓)

ติกะ คือ หมวด ๓

รัตนะ ๓ อย่าง

รัตนะ แปลว่าแก้ว หมายถึง พุทธรันตะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ที่เรียกว่า รัตนะ เพราะเป็นสิ่งที่ประเสริฐ มีค่าสูงสุด และหาได้ยาก ก่อให้เกิดความเคารพ เป็นความสุขอบอุ่นใจของผู้นับถือ ทั้ง ๓ นี้ รวมเรียกด้วยความเคารพอย่างสูงสุดว่า พระรัตนตรัย หรือ พระไตรรัตน์
๑.พระพุทธ คือ ผู้ตรัสรู้ดีโดยชอบพระองค์เองก่อนแล้ว ทรงมีพระกรุณาคุณสอนให้ผู้อื่นรู้ตามด้วย
๒.พระธรรม คือ คำสั่งสอนของพระพุทธ เรียกรวมกันว่า พระธรรมวินัยแบ่งออกได้ ๓ ประเภท คือ ปริยัติธรรม ปฏิปัตติธรรม และ ปฏิเวธธรรม
๓.พระสงฆ์ คือ หมู่ชนที่ฟังคำสอนของพระพุทธแล้วเลื่อมใสออกบวช ปฏิบัติตามคำสอนนั้นอย่างเคร่งครัด เมื่อปฏิบัติได้แล้วก็สอนให้ผู้อื่นปฏิบัติตามด้วย พระสงฆ์มี ๒ ประเภท คือ อริยสงฆ์และสมมติสงฆ์

คุณของรัตนะ ๓ อย่าง

พระพุทธเจ้ารู้ดีรู้ชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วย
พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว
พระสงฆ์ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว สอนผู้อื่นให้กระทำตามด้วย
๑.คำว่า “รู้ดีรู้ชอบ” หมายถึง ทรงรู้ความจริงอันประเสริฐ ๔ อย่าง คือ รู้ว่าชาติ ชรา มรณะเป็นต้น เป็นทุกข์จริง.ตัณหา เป็นสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์จริง. ความที่ตัณหาดับไปโดยไม่เหลือ เป็นความดับทุกข์ได้จริง. มรรค คือ ปัญญาเห็นชอบ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้จริง เรียกว่า รู้อริยสัจ
๒.คำว่า “ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว” หมายถึง ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าย่อมไม่ตกไปอยู่ในสถานที่ต่ำช้าใน ภพทั้ง ๒ คือ ในภพนี้ มีถูกกักขังในเรือนจำ เกิดในถื่นทุรกันดาร เป็นต้น ในภพหน้า ได้แก่ อบายภูมิทั้ง ๔ มี ตกนรก เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย
๓.คำว่า “ปฏิบัติชอบ” หมายถึง พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อความรู้ยิ่ง ให้สมกับเป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม เมื่อปฏิบัติได้ดังนั้นแล้ว จึงสั่งสอนให้ผู้อื่นปฏิบัติตามด้วย พุทธศาสนาที่ยังดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะพระสงฆ์ช่วยกันเผยแผ่พระธรรม ของพระพุทธเจ้า

อาการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ๓ อย่าง

๑.  ทรงสั่งสอนเพื่อจะให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริง คือ พระองค์ทรงพิจารณาถึงอุปนิสัยของผู้ฟังว่าควรรู้ควรเห็นเรื่องใด แล้วจึงนำเรื่องนั้นมาแสดงให้เหมาะสมกับเพศ ภาวะ ระดับสิตปัญญา และบารมีโดยไม่มีปิดบังอำพราง เพื่อให้ผู้ฟังได้รู้จริงในสิ่งนั้น เป็นการเปิดเสรีภาพทางการศึกษาไม่มีการผูกขาดความรู้
๒.  ทรงสั่งสอนมีเหตุผล คือ ทรงสั่งสอนให้ผู้ฟังสามารถใช้วิจารณญาณพิจารณาให้เห็นจริงได้ด้วยตนเอง ว่าเรื่องที่พระองค์ตรัสสอนนั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่อย่างไร เป็นการเปิดเสรีภาพทางความคิด ไม่มีการบังคับให้เชื่อตาม
๓.  ทรงสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ คือ ทรงสั่งสอนให้มีความเต็มใจที่จะปฏิบัติเอง ไม่มีการบังคับให้ต้องปฏิบัติ แต่ถ้าใครสามารถปฏิบัติตามได้ ย่อมได้รับผลตามสมควรแก่การปฏิบัติได้อย่างไม่จำกัดกาลเวลา โดยไม่ต้องรอใครมาหยิบยื่นให้ เป็นการเปิดเสรีภาพในการทำความดี
โอวาทของพระพุทธเจ้า ๓ อย่าง
๑.สัพพปาปัสสะ อกรณัง หมายถึง การงดเว้นจากทุจริต จากบาปกรรมทุกอย่าง ทั้งทายกาย วาจา ใจ พยายามลดละที่จะทำซ้ำ และป้องกันไม่ให้เกิดมีขึ้นในจิตสันดาน
๒.กุสลัสสูปสัมปทา หมายถึง การทำสุจริต เป็นการทำความดี ทั้งทางกาย วาจา ใจ ให้มีในตนอยู่เสมอ ตั้งใจทำความดีใหม่เพิ่มขึ้น และรักษาความดีเดิมที่มีอยู่
๓.สจิตตปริโยทปนัง หมายถึง การทำใจให้หมดจด ให้ปลอดจากกิเลส ที่ทำให้เศร้าหมอง มีโลก โกรธ หลง เป็นต้น
พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้จะมีอยู่อย่างมากหลาย แต่เมื่อกล่าวโดยย่อแล้ว ก็รวมลงอยู่ในพระโอวาททั้ง ๓ นี้ ที่มีคติจำง่ายๆ ว่า ละชั่ว ทำดี จิตแจ่มใส ซึ่งมักเรียกกันว่า โอวาทปาฏิโมกข์ พระโอวาททั้ง ๓ จัดลงในไตรสิกขา คือ เว้น ทุจริต= ศีล ประกาอบสุจริต = สมาธิ ทำใจของตนให้หมดจด= ปัญญา



ทุจริต ๓ อย่าง
ทุจริต หมายถึง การประพฤติชั่ว การทำผิด การทำไม่ดี มีที่เกิด ๓ ทาง คือ กาย วาจา ใจ
๑.ประพฤติชั่วทางกาย มี ๓ อย่างคือ
-ฆ่าสัตว์ ทั้งทีเป็นมนุษย์ตั้งแต่ถือกำเนิดในครรภ์รวมถึงสัตว์เดรัจฉานทุกชนิด
-ลักทรัพย์ ทั้งที่เป็นสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ จะมีราคาค่างวดมากน้อยก็ตาม ถ้าเจ้าของไม่ได้ให้ด้วยกายหรือวาจาหยิบเอาของนั้นมาถือว่าเป็นการลัก
-ประพฤติผิดในกาม เป็นชู้ในชายหญิงที่มีภรรยาสามีแล้ว
๒.ประพฤติชั่วทางวาจา มี ๔ อย่างคือ
-พูดเท็จ พูดให้คลาดจากความเป็นจริง รวมถึงการเขียนเป็นหนังสือด้วย
-พูดส่อเสียด พูดยุแหย่เพื่อให้คน ๒ ฝ่ายผิดใจกัน
-พูดคำหยาบ พูดคำที่ทำให้ผู้ฟังเจ็บหรือบันดาลโทสะ
-พูดเพ้อเจ้อ พูดพล่อยๆ ไม่เป็นแก่นสาร
๓.ประพฤติชั่วทางใจ มี ๓ อย่าง คือ
-โลภอยากได้ของเขา คิดเอาแต่ได้ของคนอื่น โดยไม่คำนึงว่าควรหรือไม่ควร
-พยาบาทปองร้ายเขา คิดปองร้ายคนที่ตนไม่ชอบใจ
-เห็นผิดจากคลองธรรม เห็นว่าบาปบุญคุณโทษไม่มีผล การทำดีหรือชั่วจะใด้รับผลต่อเมื่อมีผู้รู้เห็น
การประพฤติชั่วทั้ง ๓ ทางนั้น ประพฤติชั่วทางใจมีโทษรุนแรงที่สุดกว่าการทำบาปกรรมอื่นๆ เป็นเหตุให้คนที่มีความเห็นอย่างนั้นปฏิเสธเรื่องบาปบุญคุณโทษ สามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง
ทุจริตทั้ง ๓ นี้ เป็นทางนำไปสู่ความทุกข์เดือดร้อนไม่มีความสุขความเจริญ จึงไม่ควรประพฤติ ผู้ทำทุจริตย่อมได้รับโทษ คือ
-ตนเองก็ตำหนิตนเองได้
-ถูกตำหนิจากผู้รู้
-ชื่อเสียงทางไม่ดีขจรไป
-ใกล้สิ้นใจก็หลงเพ้อ
-เสียชีวิตแล้วไปเกิดในทุคติ

สุจริต ๓ อย่าง

การ ทำ พูด คิด ของบุคคลที่ประกอบด้วยเจตนา เช่น จงใจทำ จงใจพูด จงใจคิด ลักษณะอย่างนี้ เรียกว่า ประพฤติ
การประพฤติในทางที่ดีงามถูกต้อง ชื่อว่า สุจริต เกิดขึ้นได้ ๓ ทางตามความประพฤติ

๑. ประพฤติชอบด้วยกาย เรียกว่า กายสุจริต
-เว้นจากการฆ่าสัตว์
-เว้นจากการลักทรัพย์
-เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๒.ประพฤติชอบด้วยวาจา เรียกว่า วจีสุจริต
-เว้นจากการพูดเท็จ
-เว้นจากการพูดส่อเสียด
-เว้นจากการพูดคำหยาบ
-เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๓.ประพฤติชอบด้วยใจ  เรียกว่า มโนสุจริต
-ไม่โลภอยากได้ของเขา
-ไม่พยาบาทปองร้ายเขา
-ไม่เห็นผิดจากคลองธรรม
๑-๒ คำว่า “เว้น ในการประพฤติชอบทางกาย วาจา หมายถึง การตั้งใจหลีกเลี่ยง งดที่จะไม่ทำความชั่วทางกาย วาจา การงดเว้น เรียกว่า วิรัติ มี ๓ อย่าง คือ สัมปัตตวิรัติ งดเว้นได้เฉพาะหน้า แม้สบโอกาสที่จะทำความชั่ว ก็ยับยั้งใจไม่ให้ทำได้ สมาทานวิรัติ งดเว้นได้ด้วยการสมาทาน ด้วยเจตนาที่ตั้งใจไว้ว่าจะไม่ทำความชั่ว สมุจเฉทวิรัติ งดเว้นได้เด็ดขาด ไม่ทำความชั่วตลอดชีวิต เป็นการงดเว้นได้ของพระอริยบุคคล
๓.คำว่า “ไม่” ในการประพฤติชอบทางใจ หมายถึงไม่คิดอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่คิดมุ่งร้ายจองล้างจองผลาณผู้อื่น “เห็นชอบตามคลองธรรม” หมายถึง มีความเห็นที่ถูกต้องในความเห็น ๑๐ อย่าง เช่น เห็นว่า การให้ทานมีผลจริง การบูชามีผลจริง เป็นต้น
สุจริตทั้ง ๓ เป็นสิ่งที่ควรประพฤติ เป็นทางนำไปสู่ความสุขความเจริญ ผู้ทำความดีย่อมได้รับประโยชน์ คือ
-ตัวเองตำหนิตัวเองไม่ได้
-ได้รับการสรรเสริญยกย่องจากผู้รู้
-ชื่อเสียงดีงามย่อมขจรไป
-เวลาใกล้สิ้นใจมีสติไม่หลงเพ้อ
-เสียชีวิตแล้วไปเกิดในสุคติ

อกุศลมูล ๓ อย่าง

รากเง่าของอกุศล เรียกอกุศลมูล เรียกว่า อุกศลมูล, เมื่อกุศลมูลเหล่านี้มีอยู่แล้ว อกุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้นควรละเสีย
๑.โลภะ หมายถึง ความโลภอยากได้อันเป็นไปในทาง ทุจริต เป็นต้นเหตุของความชั่วความไม่ดีต่างๆ เช่น ลัก ขโมย โกง ปล้น เป็นต้น เป็นอกุศลที่ทำลายศีลธรรมอันดีงาม คือ การบริจาค รู้จักการเสียสละและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น
๒.โทสะ หมายถึง จิตที่คิดประทุษร้ายผู้อื่น เป็นต้นเหตุของการก่อวิวาททำร้ายกัน บันดาลโทสะถึงที่สุดอาจฆ่ากันได้เมื่อทำตอบโดยตรงไม่ได้ก็กลั่นแกล้งกัน ทำให้อยู่กันอย่างเดือดร้อนหวาดระแวงไม่เป็นสุข โทสะ เกิดจากมานะ ความถือตัว กำจัด ได้ด้วยเมตตา มีความรักความปรารถนาดีต่อกัน
๓.โมหะ หมายถึง ความหลง ความเขลา ความรู้ไม่จริง เป็นต้นเหตุให้เกิดความประมาท เชื่อง่าย หูเบา เป็นต้นเหตุให้ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ไม่เชื่อว่าบาปบุญคุณโทษมีจริงโมหะเกิดจากมิจฉาทิฏฐิ ความคิดเห็นที่ผิด กำจัดได้ด้วยปัญญาพิจารณาให้เห็นประจักษ์ในสิ่งต่างๆ ก่อนแล้วจึงเชื่อ
อกุศลมูลทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นเหตุทำลายคุณงามความดีของมนุษย์และเป็นเหตุแห่งความทุกข์เดือดร้อนได้ อย่างไม่สิ้นสุดฉะนั้น อย่าให้เกิดมีขึ้นในจิตใจ

กุศลมูล ๓

สัปปุริสบัญญัติ คือข้อที่สัตบุรุษตั้งไว้ ๓ อย่าง
๑.  ทาน สละสิ่งของๆ ตนเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
๒.  ปัพพัชชา ถือบวช เป็นอุบายเว้นจากเบียดเบียนกันและกัน
๓.  มาตาปิตุอุปัฏฐาน ปฏิบัติมารดาบิดาของตนให้เป็นสุข
อปัณณกปฏิปทา คือปฏิบัติใม่ผิด ๓ อย่าง
๑.  อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ยินดียินร้ายเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ
๒.  โภชเน มัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการกินอาหารแต่พอควร ไม่มากไม่น้อย
๓.  ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรเพื่อชำระใจให้หมดจด ไม่เห็นแก่นอนมากนัก

บุญกิริยาวัตถุ ๓ อย่าง

สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ โดยย่อมี ๓ ย่าง
๑.  ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒.  ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓.  ภวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา

สามัญลักษณะ ๓ อย่าง

ลักษณะที่เสมอกันแก่สังขารทั้งปวง เรียกสามัญลักษณะ ไตรลักษณะก็เรียก แจกเป็น ๓ อย่าง
๑.  อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง
๒.  ทุกขตา ความเป็นทุกข์
๓.  อนัตตตา ความเป็นของไม่ใช่ตน
_________________________________________________________________________________

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | cheap international calls